ตำนาน องค์พระอินทร์ วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่

เชียงใหม่นิวส์ – ร้อยเรื่องเมืองล้านนา นำเสนอเรื่องราวของ พระอินทร์ ที่ประดิษฐาน วัดเจดีย์หลวง ผู้ประทานความช่วยเหลือ ตามตำนานชาวล้านนา จนมาสู่ประเพณีบูชา เสาอินทขีล(ไหว้เสาหลักเมืองเชียงใหม่) ประเพณีใส่ขันดอก..ที่คู่เมืองล้านนาและเป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงใหม่

อ่านข่าว -> การก่อสร้างหอพระอินทร์ https://www.chiangmainews.co.th/newsies/2222819

ขอบคุณภาพ Sanlarn Sansook วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เชียงใหม่ Wat Chedi Luang Chiang Mai

ตำนานความเป็นมาของ เสาอินทขีล (เสาหลักเมืองเชียงใหม่)บริเวณที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ศูนย์กลางอาณาจักรล้านนา เป็นที่ตั้งบ้านเมืองของชาวลัวะ ในเมืองมีผีหลอกหลอน ทำให้ชาวเมืองเดือดร้อนไม่เป็นอันทำมาหากิน อดอยากยากจน พระอินทร์จึงได้ประทานความช่วยเหลือบันดาลบ่อเงิน บ่อทอง และบ่อแก้วไว้ในเมือง เมื่อเศรษฐีลัวะ 9 ตระกูล แบ่งกันดูแลบ่อทั้งสามบ่อบ่อละสามตระกูล โดยที่ชาวลัวะต้องถือศีล รักษาคำสัตย์ เมื่อชาวลัวะอธิษฐานสิ่งใดก็จะได้สมดังปรารถนา ชาวลัวะก็ปฎิบัติตามเป็นอย่างดี บรรดาชาวลัวะทั้งหลายต่างก็มีความสุขความอุดมสมบูรณ์…

ข่าวความสุขความอุดมสมบูรณ์ของเวียงนพบุรี ซึ่งเป็นตระกูลของชาวลัวะเลื่องลือไปไกล และได้ชักนำให้เมืองอื่นยกทัพมาขอแบ่งปัน ชาวเมืองลัวะตกใจจึงขอให้ฤๅษีนำความไปกราบทูลพระอินทร์ พระอินทร์จึงให้กุมภัณฑ์ หรือยักษ์สองตน ชื่อว่าพญายักขราช พญาอมรเทพ ขุดอินทขีลหรือเสาตะปูพระอินทร์

ใส่สาแหรกเหล็กหาบไปฝังไว้กลางเวียงนพบุรี เสาอินทขีลนั้นมีฤทธิ์มากดลบันดาลให้ข้าศึกที่มากลายร่างเป็นพ่อค้า พ่อค้าเหล่านั้นต่างตั้งใจมาขอสมบัติจากบ่อทั้งสาม ชาวลัวะแนะนำให้พ่อค้าถือศีลและรักษาคำสัตย์และอย่าละโมบ เมื่อขอสิ่งใดก็จะได้ พ่อค้าบางคนทำตาม บางคนไม่ทำตาม บางคนละโมบ

ทำให้กุมภัณฑ์สองตนที่เฝ้าเสาอินทขีลโกรธ จึงพากันหาม เสาอินทขีล กลับขึ้นสวรรค์ไป บ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว ก็เสื่อมลง…ชาวลัวะผู้เฒ่าคนหนึ่งไปบูชา เสาอินทขีลอยู่เสมอ ทราบว่ายักษ์ทั้งสองได้นำเสาอินทขีลกลับขึ้นสวรรค์ไปแล้ว ก็เสียใจมาก จึงถือบวชนุ่งขาวห่มขาวบำเพ็ญศีลภาวณาอยู่ใต้ต้นยางเป็นเวลานานถึงสามปี ก็มีพระเถระรูปหนึ่งทำนายว่า ต่อไปบ้านเมืองจะถึงกาลวิบัติ ชาวลัวะเกิดความกลัวจึงขอร้องให้พระเถระรูปนั้นช่วยเหลือ พระเถระบอกว่าให้ชาวลัวะร่วมกันหล่ออ่างขาง หรือกระทะขนาดใหญ่ แล้วใส่รูปปั้นต่างๆ อย่างละหนึ่งคู่ ปั้นรูปคนชาย-หญิงให้ได้ครบร้อยเอ็ดภาษา ใส่กระทะใหญ่ลงฝั่งในหลุมแล้วทำเสาอินทขีลไว้เบื้องบน ทำพิธีสักการบูชา จะทำให้บ้านเมืองพ้นภัยพิบัติ การทำพิธีบวงสรวงสักการะบูชา จึงกลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน คือประเพณีบูชาเสาอินทขีล(ไหว้เสาหลักเมืองเชียงใหม่) ประเพณีใส่ขันดอก

อ่านเสาอินทขิล วัดเจดีย์หลวง https://www.chiangmainews.co.th/100lanna/2020141/

ร่วมแสดงความคิดเห็น