ตำนานผ้าพระบฏ 100 ปี ในพิธีเลี้ยงดงผี “ปู่แสะ-ย่าแสะ”

เปิดตำนานผ้าพระบฏ 100 ปี ในพิธีเลี้ยงดงผี “ปู่แสะ-ย่าแสะ”

ประเพณีเลี้ยงดงผีปู่แสะย่าแสะ ถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่มีการสืบทอดมาหลาย 100 ปี โดยจะจัดขึ้นทุกวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี ณ ผืนป่าเชิงดอยคำ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยนอกเหนือจากการเซ่นไหว้ผีปู่แสะย่าแสะแล้ว พิธีแห่ผ้าพระบฏถือเป็นอีกไฮไลท์สำคัญของประเพณีนี้

ย้อนกลับไปในอดีตในสมัยพุทธกาล ณ ที่แห่งนี้มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับปู่แสะย่าแสะ ยักษ์ที่คอยจับมนุษย์กินทุกวัน จนสร้างความเดือดร้อนให้ชาวลัวะ ชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยในระมิงค์นคร เมืองโบราณที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำปิงกับดอยสุเทพ ต้องพากันหนีตายออกนอกเมือง

เมื่อพระพุทธเจ้าได้รับรู้ถึงความเดือดร้อนของชาวลัวะ จึงได้เสด็จมาโปรดปู่แสะย่าแสะ เพื่อแสดงธรรมและอภินิหารจนยักษ์ทั้งคู่ต่างเลื่อมใส พร้อมหันมาถือศีล 5 แต่ด้วยความที่ยักษ์ต้องกินเนื้อสัตว์เพื่อประทังชีวิต จึงได้ขอพระพุทธเจ้ากินเนื้อควายสดปีละครั้ง แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสใดๆกลับมา ปู่แสะย่าแสะจึงได้ไปขอเจ้าเมืองลัวะแทน พร้อมทำหน้าที่เป็นผู้ปกปักรักษาดอยสุเทพ และดอยคำ พร้อมอำนวยฝนฟ้าให้ตกตามฤดูกาล

ดังนั้นแล้ว เมื่อถึงคราวจัดพิธีเลี้ยงดงขึ้น จะมีการแห่ผ้าพระบฏโบราณ อายุเก่าแก่ 100 กว่าปีจากวัดป่าจี้ นำมาผูกห้อยต้นไม้ในบริเวณพิธี โดยผืนผ้าที่วาดเป็นรูปของพระพุทธเจ้าปางห้ามญาติ ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2469 เมื่อถูกลมพัดแกว่งไปมา เปรียบเสมือนภาพแทนของพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาโปรดมนุษย์ พร้อมทั้งย้ำเตือนให้ผีปู่แสะย่าแสะ ละเว้นการกินเนื้อมนุษย์ พร้อมคำนึงถึงหน้าที่สำคัญในการปกปักรักษาความอุดมสมบูรณ์ในผืนป่าแห่งนี้สืบไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น