ชาวสวนทุกข์ถ้วนหน้า พืชผลราคาร่วงหนัก

กลุ่มชาวสวนลำไย อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เปิดเผยว่า ปีนี้ราคาลำไยแย่หนักกว่าทุกๆปี โดยเฉพาะราคาลำไยร่วงเกรดจัมโบ้ 11-13 บาท และเกรดเอ 4-5 บาท ซึ่งต้นทุนผลิตอยู่ที่ กก.ละ 18 บาท ขืนทำสวนลำไยต่อ แบกหนี้กันเพิ่มขึ้น แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหาด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจ ตามที่มีข้อแนะนำจากสารพัดหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น อินทผาลัม ,โกโก้,มะม่วง ทำสวนแบบผสมผสาน ท้ายที่สุด ราคาผลผลิต ยังผันผวนตามกลไกตลาด

นอกจากนี้ แหล่งจำหน่ายกล้าพันธุ์ ร้านเคมีภัณฑ์ ได้ประโยชน์จากกิจกรรม อบรม ศึกษาดูงาน เพราะชาวสวนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการ ต่างคาดหวังรายได้จากการปรับเปลี่ยน เรียนรู้การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ๆ ซึ่งดูเหมือนว่า ยิ่งส่งเสริม ราคายิ่งร่วงทุกรายการ ชาวสวน ชาวไร่ เสียทั้งเวลา เสียเงินในการเพาะปลูก

อย่างไรก็ตาม สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน กลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า ได้ลงพื้นที่สำรวจโรงงานลำไยอบแห้ง ที่เข้าร่วมกิจกรรมสนับสนุนค่าบริหารจัดการ ในการรวบรวมรับซื้อลำไยเพื่อการแปรรูปและส่งออก ภายใต้โครงการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 ในพื้นที่ จ.ลำพูน ซึ่งมีเป้าหมายรับซื้อ 100,000 ตัน หรือ 33,300 ตันอบแห้ง เป็นลำไยรูดร่วง เกรดจัมโบ้ ปริมาณ 40,000 ตันสด ราคารับซื้อไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 13 บาท และเกรด เอ ปริมาณ 60,000 ตันสด ราคารับซื้อไม่ต่ำกว่า กิโลกรัมละ 5 บาท จนถึง – 20 สิงหาคม 2565 เพื่อระบายผลผลิตลำไยช่วยเหลือเกษตรกร

ด้านเกษตรกร ปลูกมะนาว ในพื้นที่ สันทราย,แม่ริม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ราคามะนาว ร่วงหนัก เนื่องจากผลผลิตล้นตลาด เพราะฤดูฝน มะนาวจะออกลูกมาก ส่วนช่วง มี.ค.-เม.ย. หรือช่วงแล้งจะเป็นช่วงมะนาวราคาแพง ก็ต้องทำใจ เพราะพืชผลไม้ ที่มีการแข่งกันปลูก พอผลผลิตออกมาก ก็ตกต่ำเป็นธรรมดา
ทั้งนี้เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ เปิดเผยว่า แนวทางส่งเสริมการเพาะปลูกของหน่วยงาน มองไปที่เป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ ในการผลักดันโครงการสู่ชุมชน หมู่บ้าน โดยร่วมกับ สถานศึกษา ถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้วิสาหกิจชุมชน แต่ไม่คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยง จากกลไกตลาด ที่ผลผลิต พืชเศรษฐกิจหลักๆ
ทั้งลำไย ในภาคเหนือ มังคุด เงาะ ในภาคตะวันออก กระทั่ง ปาล์ม ยางพารา ในภาคใต้ อยู่ในกำมือของล้งที่กำหนดราคารับซื้อตามอำเภอใจ นอกจากนั้น ยังเห็นด้วยกับ ข้อเสนอแนะของ รมว.ศึกษาธิการ ที่ระบุข้อมูลจำนวนผู้เรียนในสถานศึกษา โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ที่เด็กของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีในหลายๆพื้นที่ลดน้อยลง พร้อมเสนอแนะให้ผู้บริหารเน้นเรื่อง สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง นำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้เด็กเห็นว่าการเกษตรสมัยใหม่มีอนาคต

ขณะเดียวกัน สถานศึกษาที่มีความเป็นปราชญ์ ทางการเกษตร ต้องไม่สับสนกับความโดดเด่น ในวิทยาการ แขนงสาขาที่มีการเปิดหลักสูตร ต้องมุ่งเน้นเป้าหมายผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ มีศักยภาพ ในการออกมารับใช้สังคม ไม่ใช่จบออกมา มุ่งหางาน ไม่คิดสร้างงาน จนกลายเป็นคนว่างงาน ในขณะเดียวกันทางสถาบันก็หันไปเปิดหลักสูตร ตามกระแส แข่งกันในตลาดการศึกษา อดีตเกษตรจังหวัด ในฐานะศิษย์เก่าแม่โจ้ กล่าวว่า ความจริงแล้ว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ มหาวิทยาลัยชั้นนำ ตลอดจน สถานศึกษาด้านการเกษตร ในบ้านเรา มีความโดดเด่น ในวิทยาการ หลักสูตร แตกต่างกันไป บรรดาน้องๆบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกไป รุ่นใหม่ๆ นำความรู้ไปต่อยอดเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ หรือ ทำงานในชุมชน ในด้านภาคการเกษตร


“มีการหล่อหลอม วิถีชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่ม ในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งตราบใด ที่รูปแบบภาคการเกษตร ชุดความคิดแบบเดิมๆ มุ่งเน้น ปลูกพืชตามกระแสราคา ตัวไหนราคาแรง แห่ปลูก ทั้งทุเรียน ไม้ด่าง ไม้ผล ท้ายที่สุด ราคาก็จะเป็นไปตามกลไกตลาด ผู้ได้รับประโยชน์ มากสุดคือ ล้ง ผู้กำหนดราคาผลผลิต ผู้จำหน่ายกล้าพันธุ์ และ ผู้จำหน่ายเคมีภัณฑ์ ปุ๋ย ดังนั้นการพลิกเปลี่ยนแนวทางการทำเกษตร ต้องฝากไปที่น้องๆคนรุ่นใหม่ ที่มีความกล้า ท้าทาย วิถีการตลาดใหม่ๆ ไม่ได้มองมูลค่า รายได้เป็นเป้าหมาย แต่คิด วิเคราะห์รูปแบบไปที่ การเกษตรทันโลก ก้าวทันสังคมใหม่ หลากรูปแบบ โดยแต่ละพื้นที่ ชุมชน มีการสร้างงาน มีรายได้ร่วมกัน ยกตัวอย่างในหลายๆอำเภอของเชียงใหม่ เริ่มมีผลสัมฤทธิ์ เด่นชัด เช่น กลุ่มข้าวอินทรีย์ กลุ่มกาแฟ กลุ่มปลูกกล้วยหอม กลุ่มไม้ผลเพื่อสุขภาพ ซึ่งภาคเหนือไม่ใช่มีเพียงลำไย ลิ้นจี่ เป็นพืชเศรษฐกิจหลักๆ วนเวียนกับวงจร ปัญหาซ้ำซากแบบนี้ ทุกฤดูกาล “

ร่วมแสดงความคิดเห็น