ค่าการตลาดน้ำมันปัจจุบัน ยังอยู่ในกรอบภาครัฐดูแล

ค่าการตลาดน้ำมันในปัจจุบันยังอยู่ในกรอบที่ภาครัฐติดตามดูแล ย้ำต้องดูค่าเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์


วันนี้ (6 กรกฎาคม 2565) นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับค่าการตลาดน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ โดยมีการเปรียบเทียบราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นกับค่าการตลาดน้ำมันเบนซิน ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2565 กับปัจจุบัน ที่ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นปรับลดลง แต่ค่าการตลาดปรับสูงขึ้นนั้น กระทรวงพลังงานขอชี้แจงว่า จากแนวทางการพิจารณาค่าการตลาดอ้างอิงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานนั้น ในการพิจารณาค่าการตลาดควรดูในภาพรวมของทุกชนิดน้ำมัน เพราะสถานีบริการไม่ได้จำหน่ายน้ำมันเพียงชนิดเดียว และไม่ควรเปรียบเทียบค่าการตลาดเป็นรายวัน เนื่องจากราคาเนื้อน้ำมันมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงทุกวันตามราคาตลาดโลก โดยหากพิจารณาในปีนี้ค่าเฉลี่ยของค่าการตลาดในแต่ละเดือนก็อยู่ในกรอบที่ภาครัฐติดตามดูแล


ทั้งนี้ หากพิจารณาค่าการตลาดโดยรวมของสถานีบริการ (เฉลี่ยของทุกชนิดน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซล) ตั้งแต่วันที่ 1 – 6 กรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 2.17 บาทต่อลิตร ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของปี 2564 ทั้งปี (2.14 บาทต่อลิตร) และอยู่ในกรอบที่ภาครัฐติดตามดูแล (2.00 +/- 0.40 บาทต่อลิตร)


สำหรับค่าการตลาด คือ รายได้ของผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันที่ยังไม่ได้หักค่าดำเนินการ ค่าขนส่งน้ำมันจากคลังมาหน้าสถานีบริการ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพนักงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายๆ อื่นๆ เช่น ค่าเช่าที่ดิน ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ และค่าการตลาดของผู้ให้บริการแต่ละรายก็ไม่เท่ากัน ค่าการตลาดที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเผยแพร่เป็นค่าการตลาดอ้างอิงที่มาจากการคำนวณเพื่อใช้ในการติดตามดูแลกรอบค่าการตลาด


“หากจะพิจารณาค่าการตลาดน้ำมัน ควรจะดูในภาพรวมของผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่าย ทั้งน้ำมันเบนซินและดีเซล ซึ่งทางภาครัฐได้มีการศึกษากรอบค่าการตลาดซึ่งควรอยู่ที่ 2 บาท และ +/- ได้ 0.40 บาทต่อลิตร ซึ่งหากพิจารณาค่าการตลาดตั้งแต่วันที่ 1 – 6 กรกฎาคม 2565 ค่าการตลาดน้ำมันเฉลี่ยทุกประเภท ทั้งน้ำมันเบนซินและดีเซลจะอยู่ที่ 2.17 บาทต่อลิตร ซึ่งก็อยู่ในกรอบที่ภาครัฐกำหนด กระทรวงพลังงานขอเรียนว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ภาครัฐได้ติดตามสถานการณ์และใช้หลายมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นให้กับประชาชน ในสภาวะปัจจุบันที่เกิด วิฤตการณ์ด้านราคาพลังงานทั่วโลก ทั้งนี้ ในส่วนของประชาชนสามารถบริหารจัดการการใช้รถยนต์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามความเหมาะสมและจำเป็นของแต่ละบุคคล เช่น ใช้รถเท่าที่จำเป็น ศึกษาเส้นทางก่อนการเดินทาง หากเป็นไปได้หลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่การจรจรติดขัด ตรวจสภาพรถตามที่ค่ายรถยนต์กำหนด ” นายสมภพ กล่าว

ขณะที่รายงานราคาน้ำมันเฉลี่ยในอาเซียน ประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 โดยราคาขายน้ำมันแต่ละประเทศ มีปัจจัยทางด้านราคา ดังนี้

1.แต่ละประเทศมีมาตรการภาษี และระบบการเก็บเงินเข้ากองทุนหรืออุดหนุนราคาพลังงานที่แตกต่างกัน
2.ในหลายประเทศเพื่อนบ้านยังมีการอุดหนุนราคากันอยู่
3.ประเทศไทยสนับสนุนการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ให้การอุดหนุนราคาโดยกองทุนน้ำมันฯ จึงทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถูกกว่าเบนซิน

หมายเหตุ : ราคา ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 อัตราแลกเปลี่ยน (อัตรากลาง) ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2565

*ประเทศไทย อ้างอิงราคาจาก ปตท. และ บางจาก และเป็นราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95E10 ซึ่งมีสัดส่วนการใช้มากที่สุด

ราคาน้ำมันดีเซล

  1. สิงคโปร์ 80.10 บาทต่อลิตร
  2. ฟิลิปปินส์ 58.37 บาทต่อลิตร
  3. กัมพูชา 54.95 บาทต่อลิตร
  4. ลาว 52.37 บาทต่อลิตร
  5. อินโดนีเซีย 52.01 บาทต่อลิตร
  6. เมียนมา 51.27 บาทต่อลิตร
  7. เวียดนาม 45.18 บาทต่อลิตร
  8. ไทย 34.94 บาทต่อลิตร
  9. มาเลเซีย 17.31 บาทต่อลิตร
  10. บรูไน 7.91 บาทต่อลิตร

ราคาน้ำมันเบนซิน

  1. สิงคโปร์ 97.95 บาทต่อลิตร
  2. ลาว 71.42 บาทต่อลิตร
  3. กัมพูชา 56.25 บาทต่อลิตร
  4. ฟิลิปปินส์ 55.53 บาทต่อลิตร
  5. เวียดนาม 49.99 บาทต่อลิตร
  6. อินโดนีเซีย 47.54 บาทต่อลิตร
  7. เมียนมา 45.94 บาทต่อลิตร
  8. ไทย 44.55 บาทต่อลิตร
  9. มาเลเซีย 16.51 บาทต่อลิตร
  10. บรูไน 13.52 บาทต่อลิตร

ร่วมแสดงความคิดเห็น