มารู้จักน้ำพริกอ่องกันเถอะ

น้ำพริกอ่องเป็นน้ำพริกพื้นบ้านของภาคเหนือ และเป็นที่รู้จักของคนภาคเหนือเป็นอย่างดี สามารถกินได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากมีรสชาติที่ไม่เผ็ดมาก หากนักท่องเที่ยวมาแอ่วภาคเหนือแล้วไม่ได้ลองชิมน้ำพริกต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือนั้น ก็ถือว่าท่านยังมาไม่ถึงภาคเหนือ 

โดยวันนี้เชียงใหม่นิวส์จะพาผู้อ่านทุกท่านมารู้จักน้ำพริกอ่องให้มากขึ้นกว่านี้ รวมถึงคุณค่าโภชนาการที่จะได้จากการทานน้ำพริกอ่อง มีอะไรบ้างมาดูไปพร้อม ๆ กันเลย

น้ำพริกอ่อง ซึ่งมีที่มาจากไทใหญ่นั้นนับเป็นน้ำพริกพื้นบ้านล้านนาที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ลักษณะเด่นของน้ำพริกอ่อง คือมีสีส้มของสีมะเขือเทศและพริกแห้ง ที่เคี่ยวจนเป็นน้ำขลุกขลิก มีน้ำมันลอยหน้าเล็กน้อย มีสามรส คือ เปรี้ยว เค็ม เผ็ด เล็กน้อย และรสหวานตาม นิยมรับประทานกับผักสดหรือผักต้มก็ได้ บางสูตร ผัดหมูก่อนแล้ว จึงตามด้วยเครื่องปรุงและมะเขือเทศภายหลัง บางสูตร โขลกเนื้อหมู เครื่องปรุงและมะเขือเทศให้เข้ากันก่อน จึงนำไปผัดกับน้ำมันพืช บางสูตร ใส่ถั่วเน่าแข็บหรือใส่เต้าเจี้ยวในการปรุงรส (รัตนา, 2542)

จากเว็บไซต์ ตำรับอาหารไทย ได้กล่าวถึงคุณค่าโภชนาการของน้ำพริกอ่องไว้ว่า น้ำพริกอ่องมีจุดเด่นคือมะเขือเทศที่เป็นตัวที่ทำให้น้ำพริกอ่องเมนูนี้มีสีแดงสดใสน่ารับประทาน ซึ่งสีแดงสดใสพบได้จากสารสำคัญที่อยู่ในมะเขือเทศก็คือเบต้าแคโรทีนและไลโคปีน สารทั้ง 2 ตัวนี้ เป็นตัวสำคัญที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในการกำจัดสารพิษ ป้องกันอนุมูลอิสระและที่สำคัญในไลโคปีน (Lycopene) ยังช่วยในเรื่องของหลอดเลือดอุดตัน ช่วยลดไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้ และก็ลดความเสี่ยงต่อโรคมะร็งได้ด้วย นอกจากนี้ในผู้ป่วยเบาหวานมีรายงานวิจัยพบว่าสารไลโคปีนยังช่วยชะลอการเกิดโรคเบาหวานได้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นพริกเองก็ยังมีสารแคปไซซิน(capsaicin) วิตามินซี รวมทั้งเบต้าแคโรทีน (β-carotene) ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทำให้เมนูนี้มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่ระวังในการทำน้ำพริกอ่องก็คือ เนื้อหมูที่ส่วนมากนิยมใช้หมูสับก็ควรเลือกเนื้อหมูแดงให้มากเพราะว่าจะได้มีปริมาณไขมันจากเนื้อสัตว์น้อยลงด้วย

ข้อมูลมะเขือเทศชื่อทางวิทยาศาสตร์ และสายพันธุ์ที่ใช้

ในจำนวนของสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบของน้ำพริกอ่อง มะเขือเทศเป็นส่วนประกอบหลักที่พบมากที่สุด มะเขือเทศ (Wild tomato, Love apple)  เป็นพืชสวนครัว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lycopersicun esculentum Miller ทางเหนือนิยมเรียกว่า มะเขือส้ม ต้นมีความสูงเท่าหัวเข่า ใบเป็นแฉก มีขนเหมือนมะเขือ แต่มีขนาดเล็กกว่า ออกดอกสีเหลืองผลอ่อนกลมสีเขียวอ่อน เมื่อผลสุกผลจะกลายเป็นสีแดงส้ม เนื้อในนิ่มฉ่ำน้ำ มีรสเปรี้ยวหวาน มีเมล็ดนิ่มจำนวนมาก มะเขือเทศมีหลายพันธุ์ด้วยกัน ที่นิยมนำมาทำน้ำพริกอ่องคือ พันธุ์สีดาซึ่งมีผลเล็ก เปลือกบางและมีสีออกชมพู  (ชิดชนก, 2548)

ประโยชน์ของส่วนประกอบที่มีในน้ำพริกอ่อง

มะเขือเทศสุก มีวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเกือบครบ ได้แก่ วิตามินเอซึ่งสูงมาก วิตามินบี วิตามินซี วิตามินเค เบต้าแคโรทีนและไลโคปีนฟอสฟอรัส แคลเซียม เหล็ก กรดผลไม้และสารอื่น ๆ มะเขือเทศสุกจะช่วยย่อยอาหารและช่วยฟอกเลือด ลดความดันโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงตับ ช่วยความจำ แก้แผลร้อนในปาก ลดความดันโลหิต บำรุงหัวใจ (ชิดชนก, 2548)

ผักชีซอ มีสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่เบต้าแคโรทีน วิตามินซีป้องกันการเสื่อมของเซลล์และป้องกันมะเร็ง มีเหล็กสูงช่วยสร้างเม็ดเลือด เบต้าแคโรทีนเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ ช่วยในการบำรุงสายตาและบำรุงสุขภาพ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ร่างกายเจ็บป่วย (ชิดชนก, 2548)

พริกขี้หนู รสเผ็ดจะช่วยขับลม ช่วยย่อย (สมจิตร, 2552)

หอมแดง รสเผ็ดแก้ไข้หวัด ขับเสมหะ แก้โรคในปาก บำรุงธาตุ (สมจิตร, 2552)

กระเทียม ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุดเสียด (สมจิตร, 2552)

จากข้อมูลที่เชียงใหม่นิวส์ได้นำมาแบ่งปันให้ผู้อ่านทุกท่าน ทางเราหวังว่าจะเป็นประโยชน์และทำให้ผู้อ่านได้ความรู้ และเข้าใจคุณค่าของอาหารที่รับประทานมากขึ้น ว่าน้ำพริกอ่องไม่ใช่ให้เพียงแค่ความอร่อย แต่ยังให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย 

ที่มา : เว็บไซต์ คณะอุสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น