รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี นำสุนัขบำบัด เยียวยาจิตใจผู้ป่วยมะเร็ง

กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี นำสัตว์เลี้ยงบำบัด (Pet Therapy) เป็นการแพทย์ทางเลือกอย่างหนึ่ง ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย โดยสัตว์ที่นิยมนำมาใช้ในการบำบัดกันมาก โดยเฉพาะในต่างประเทศ ได้แก่ สุนัข เนื่องจาก สุนัขมีความเป็นมิตรและซื่อสัตย์ ทำให้ผู้ป่วยได้ผ่อนคลาย ได้ทำในสิ่งที่รักและคุ้นชิน เกิดความรู้สึกสนุกสนาน ลดความวิตกกังวล และเป็นการส่งเสริมอารมณ์ทางบวกต่อผู้ป่วยและญาติ

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุขในระดับโลก ซึ่งวิธีการรักษาหลักๆของโรคมะเร็งประกอบด้วย การผ่าตัด รังสีรักษา และเคมีบำบัด โดยผู้ป่วยมะเร็งไม่เพียงแต่ต้องทุกข์ทรมานจากการดำเนินของโรค การรักษา และอาการข้างเคียงจากการรักษาแล้ว ยังส่งต่อการดำรงชีวิตด้วย เมื่อโรคมะเร็งมีอาการลุกลามเพิ่มขึ้นและเข้าสู่ระยะท้าย ผู้ป่วยจะเกิดความทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ ส่งผลทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความวิตกกังวล ความเครียด ท้อแท้ หมดหวัง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว ซึ่งการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ รวมถึงการดูแลแบบผสมผสาน เพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานจากอาการของโรค ลดความวิตกกังวล ความเครียด และส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในช่วงเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่

นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี สังกัดกรมการแพทย์ เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง ตั้งอยู่จังหวัดปทุมธานี โดยโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี มีความเชี่ยวชาญในด้านการดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบประคับประคอง และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดทำโครงการสัตว์เลี้ยงบำบัดขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยรวมทั้งผู้ดูแล ที่มีความรักและผูกพันธ์กับสัตว์เลี้ยง ทำให้ผู้ป่วยได้เพลิดเพลิน ผ่อนคลายและเบี่ยงเบนความรู้สึกจากความทุกข์ทรมาน โดยการใช้สุนัขบำบัด (Dog therapy) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมทางเลือกสำหรับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีความสุข และคงไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม

บัดดี้ เป็นสุนัข รุ่นที่ 1 และข้าวปั้น เป็นสุนัขรุ่นที่ 2 ที่เข้ามาช่วยเยียวยาและสร้างความสุขให้กับผู้ป่วยและครอบครัวในหออภิบาลคุณภาพชีวิต (QCU) ทั้งสองตัวเป็นสุนัขเพศผู้ พันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เป็นมิตร มีนิสัยดี พร้อมมอบความรักให้กับทุกคน เป็นสัตว์ที่ชอบเข้าสังคม ปรับตัวเก่ง สร้างสัมพันธ์กับสัตว์อื่นๆ และเด็กได้ดี มีความอดทน ซื่อสัตย์และชอบมีส่วนร่วมกับสมาชิกหรือคนที่ไปเล่นด้วย บัดดี้และข้าวปั้นจะเข้าไปผูกมิตร เล่นและคลอเคลียกับผู้ป่วยและญาติ คอยต้อนรับแขกที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาดูงานในหออภิบาลคุณภาพชีวิต ด้วยกิริยาที่ร่าเริงและแสดงความเป็นมิตรกับทุกคน สามารถติดต่อได้ที่หมายเลข 02 546 1960-6 ต่อ 8044,8045


ทั้งนี้การใช้สัตว์มาบำบัดผู้ป่วยไมไ่ด้มีเพียงแค่สุนัข มีงานวิจัยมากมายที่ใช้ทั้ง แมว กระต่าย นก ช่วยเหลือผู้ป่วยในด้านจิตเวชอีกด้วย เช่นการใช้แมว – กระต่าย ในการบำบัดผู้ป่วยซึมเศร้า ช่วยให้มีความสุขและเพิ่มการเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

ผลการศึกษา pets therapy ได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 144 ราย ที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ในผู้สูงอายุโดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเพื่อควบคุม ประเมินผลโดยใช้แบบประเมินทางจิตใจ พบว่า ในกลุ่มที่ได้รับการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยงมีค่าคะแนนกลุ่มอาหารทางจิตใจ (psychological symptoms) ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการบำบัดอย่างชัดเจน มีผู้มีป่วยโรคซึมเศร้ากว่า 28 รายที่ได้รับการประเมินจากแบบประเมินภาวะซึมเศร้า มีอาการของโรคซึมเศร้าลดลงอย่างชัดเจน ขณะที่การบำบัดในผู้ป่วยโรคจิตเภท กว่า 20 ราย ที่ได้รับการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมว 3 ชม.ต่อสัปดาห์ ด้วยการอาบน้ำ ให้อาหาร ตัดขน ฯลฯ ประเมินผลจาก social functioning ของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

#กรมการแพทย์#โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี#MTH ,กรมสุขภาพจิต

ร่วมแสดงความคิดเห็น