Echo Chamber ปัญหาใหญ่ในการรับข้อมูลบนโลกสารสนเทศ

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับสภาวะที่เราอยู่กับชุดข้อมูลเดิมๆ และเลือกที่จะแสดงความเห็นกับกลุ่มสังคมที่มีความคิดเห็นเหมือนกับเรา จนหลายครั้งส่งผลให้เราพลาดข้อเท็จจริง ที่แตกต่างไปจากที่เราเข้าใจ ในปัจจุบันเรารู้จักสภาวะนี้ว่า Echo Chamber

ตามความหมายของพจนานุกรมของ Cambridge นั้น Echo Chamber คือพื้นที่แห่งเสียงสะท้อน หรือในที่นี้เราหมายถึง สถานการณ์ที่คนจะได้ยินแต่ความคิดเห็นแบบเดียวกัน ดังที่กล่าวไปในข้างต้น

Echo Chamber ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้น ย้อนไปในอดีต เมื่อสื่อมวลชนขยายตัว ผู้ประกอบการเริ่มผลิตนิตยสาร หนังสือพิมพ์ สถานีวิทยุ รวมถึงช่องทีวีดาวเทียม ที่ตอบโจทย์ไปตามความต้องการเฉพาะของแต่ละกลุ่ม ซึ่งส่งผลให้ผู้รับสาร เริ่มที่จะเลือกเสพข้อมูลที่ตรงกับความต้องการของตัวเองมากขึ้น และเลือกที่จะปฏิเสธชุดข้อมูลที่แตกต่างไปจากความเข้าใจของเรา จนนำไปสู่สภาวะ Echo Chamber ยุคแรกๆในที่สุด

ในปัจจุบัน แม้สื่อเก่าจะเริ่มเสื่อมความนิยมไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แต่การเข้ามาของสื่อใหม่ในศตวรรษที่ 21 กลับทำให้สภาวะ Echo Chamber เกิดขึ้นจริงจังมากขึ้น อินเตอร์เน็ตไปจนถึงโซเชี่ยลมีเดีย แม้จะทำให้ผู้รับสาร สามารถค้นหาข้อมูลมากขึ้นกว่าสื่อยุคเก่า แต่ด้วยข้อมูลที่มีมากเกินไป เทคโนโลยี SEO และ AI จึงช่วยคัดกรองข้อมูลตามความต้องการของผู้รับสารจากการเก็บข้อมูลและประมวลผลพฤติกรรมการใช้งาน ทำให้ Echo Chamber บนโลกออนไลน์ เข้มข้นมากกว่าเดิม ในขณะที่ “ความรอบด้าน” ในการรับข้อมูลสารสนเทศ และข้อเท็จจริงกลับลดลง

ดังนั้น หากเราตกอยู่ในสภาวะ Echo Chamber เราจึงต้องมีวิจารณญาณในการรับสารมากขึ้น เพื่อป้องกันการตกหล่มความคิดที่เต็มไปด้วยอคติอาทิ การวิเคราะห์เนื้อหาที่เรากำลังรับอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบว่าผู้ผลิตเนื้อหาเป็นใคร ภษาที่ใช้เน้นเหตุผลหรือไม่ ที่มาน่าเชื่อถือแค่ไหน และ การออกมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับสังคมใหม่ๆ หรือการเข้าร่วมเสวนาจากผู้เข้าร่วมที่หลากหลาย ซึ่งนอกจากจะทำให้เราหลุดพ้นจากสภาวะนี้ และยังทำให้กระบวนการทางความคิดเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น และสามารถตัดสินข้อมูลที่รับโดยปราศจากอคติ

ที่มา : Techsauce , GQ Thailand

ร่วมแสดงความคิดเห็น