ส่องโคมล้านนา ชุมชนวัดเมืองสาตร สินค้าชุมชนรายได้หลักแสน

จากภูมิปัญญาชาวบ้านสู่สินค้าชุมชนรายได้หลักแสน เปิดตำนาน “โคมยี่เป็ง” ชุมชนวัดเมืองสาตร

เมื่อพูดถึงเทศกาลยี่เป็งของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นตรงกับช่วงเทศกาลลอยกระทงของภาคกลางทุกปี ณ ชุมชนเล็กๆแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ได้กลายเป็นศูนย์กลางแหล่งหัตถกรรม ที่ผลิตสินค้าชุมชนส่งออกขาย ไม่เฉพาะแค่จังหวัดเชียงใหม่ หรือภาคเหนือ แต่ส่งออกไปขายทั่วประเทศ

นี่คือชุมชนวัดเมืองสาตร ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ทุกวันในช่วงใกล้เทศกาลใหญ่ส่งท้ายปี บริเวณหน้าวัดเมืองสาตรจะเต็มไปด้วยโคมไฟแบบล้านนา ที่ถูกนำมาแขวนเพื่อรอขายแก่ลูกค้า ที่ต่างขับรถวนเวียนมาตลอดทั้งวัน 

ซึ่งลูกค้าหลายราย ต่างมีทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ พนักงงานบริษัทเอกชน ครูโรงเรียน ไปจนถึงเจ้าของโรงแรมและรีสอร์ทขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ที่พากันมาเลือกซื้อโคมล้านนาไปตกแต่ง บ้างก็ถึงขั้นต้องเอารถกระบะ หรือจ้างรถสี่ล้อแดงมาขนโคมดังกล่าวเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว

ในอดีต ทุกคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองของทุกปี ชาวล้านนาจะนำโคมมาจุดไฟ เพื่อสักการะบูชาพระพุทธเจ้า ตามขนบธรรมเนียมแบบดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติตามกันมา เมื่อเข้าสู่ยุคปัจจุบัน ความสวยงามของโคมล้านนา ที่มาจากภูมิปัญญาของคนเมืองเฮา ได้กลายเป็นสินค้าชุมชน ที่ได้รับความนิยมนำไปตกแต่งประดับประดาในช่วงเทศกาลยี่เป็ง ก่อนขยายไปยังงานเทศกาลและอีเวนท์ต่างๆตลอดทั้งปี เช่น เทศกาลปีใหม่เมือง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แม้แต่เทศกาลคริสมาสต์ ที่จัดขึ้นทั่วโลก ก็เริ่มมีการนำโคมล้านนาไปประดับ

และที่ชุมชนวัดเมืองสาตร มีสล่า หรือช่างหัตถกรรมคนสำคัญอาศัยอยู่ที่นี่ คือ แม่ครูบัวไหล คณะปัญญา ครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ จากการทำโคมล้านนาประดับตกแต่งสถานที่ในช่วงที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ เมื่อปี พ.ศ. 2538 ด้วยการสืบสานงานหัตถกรรมจากรุ่นสู่รุ่น และเผยแพร่ภูมิปัญญาแก่ลูกหลานและสมาชิกชุมชน ทำให้ชุมชนวัดเมืองสาตร กลายเป็นศูนย์กลางการทำโคมล้านนา ที่ลูกค้าทั้งในจังหวัดและทั่วประเทศต้องติดต่อสั่งซื้อ

จากการลงพื้นที่โดยนักข่าวเชียงใหม่นิวส์ล่าสุด พบว่า ตามร้านค้าผลิตโคมล้านนา ยังคงมีลูกค้าขับรถเข้ามาซื้อโคมอย่างต่อเนื่อง เช่นที่ร้านโคมล้านนา แม่อุ้ยเมืองสาตร ซึ่งเป็นร้านที่เปิดขายโคมล้านนาตลอดปี ได้กล่าวกับนักข่าวเชียงใหม่นิวส์ว่า 

ในช่วงเทศกาลยี่เป็ง หรือลอยกระทง ถือเป็นเวลาทอง เพราะได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายนึง ในระดับหลักแสนบาทเลยทีเดียว และมีลูกค้าทั้งในจังหวัด หรือต่างจังหวัดไกลๆ เช่น ภาคอีสาน หรือภาคใต้ อย่าง อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ติดต่อสั่งซื้อโคมล้านนาไปประดับ

ซึ่งโคมที่ร้าน มีราคาถูกสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 40-50 บาท และแพงสุดอยู่ที่ 1,000 บาทขึ้นไป โดยปัจจุบัน มีชาวบ้านที่ย้ายไปอาศัยต่างอำเภอ ยังคงรับงานผลิตโคมล้านนา เอามาขายที่ชุมชนอยู่ และยังมีแรงงานชาวไทใหญ่จำนวนหนึ่ง ที่ได้เข้ามาสืบทอดการทำโคมล้านนาขาย 

ขณะที่ร้านยายนอม โคมล้านนา ออกมาเปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน กระทบต่อการขายโคมล้านนา เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อทำให้วัตถุดิบในการทำโคมแพงขึ้นเท่าตัว 

ทำให้ราคาโคมปีนี้แพงกว่าปีก่อน แม้ช่วงนี้บรรยากาศการซื้อโคมจะเริ่มคึกคัก เนื่องจากใกล้ช่วงเทศกาล แต่เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว กลับซบเซากว่าเล็กน้อย จากภาวะเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ลูกค้าบางส่วนยังสามารถสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ได้อีกด้วย ทำให้บรรยากาศหน้าร้าน ลูกค้าบางตาลงกว่าเมื่อก่อน

ด้วยภูมิปัญญาและความสวยงามที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ชุมชนวัดเมืองสาตร กลายเป็นแหล่งหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ และกลายเป็นศูนย์กลางในการผลิตโคมล้านนา ที่สามารถส่งขายไปทั่วประเทศ ตอกย้ำฝีมือของสล่าล้านนา ที่สามารถสร้างรายได้จากการผลิตสินค้าชุมชน

อ่านข่าวเพิ่มเติม :

แม่ครูบัวไหล ผู้เชี่ยวชาญประดิษฐ์โคมล้านนา

ที่มาข้อมูล :

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศูนย์ข้อมูลกลาง กระทรวงวัฒนธรรม

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน)

ร่วมแสดงความคิดเห็น