แม่ครูบัวไหล ผู้เชี่ยวชาญประดิษฐ์โคมล้านนา

“โคมล้านนา” จัดเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ โดยในทุกเทศกาลและงานประเพณีของคนล้านนานั้น จะเป็นประเพณีที่งานบุญที่เกิดขึ้นจากความศรัทธา และในทุกๆเทศกาลมักจะมี “โคมไฟ” เข้ามาเกี่ยวข้อง ในการประดับประดาตกแต่งสถานที่ แสดงถึงความเลื่อมใสศรัทธาชาวล้านนา ในส่วนของ “โคมล้านนา” นั้น จะไม่เอ่ยถึงไม่ได้เลยกับ “แม่ครูบัวไหล คณะปัญญา” ในวัย 81 ปี ที่เปรียบเสมือนเป็น “ครูใหญ่” ในเรื่องโคมล้านนา
ความเป็นมาในการทำโคมของแม่ครูนั้น แม่ครู เล่าให้ฟังว่า “เมื่อก่อนเริ่มทำโคมจากชิ้นเล็กๆ ไม่ยากมาก เริ่มจากการทำโคมจีบ เมื่อทำแล้วก็จะนำไปขายเฉพาะในช่วงเทศกาลยี่เป็ง โดยนำไปส่งที่กาดหลวง แล้วก็ส่งที่จังหวัดลำปาง ซึ่งเมื่อก่อนนั้นคนโบราณจะใช้เวลาว่างในตอนกลางคืนทำ เพราะเป็นช่วงที่ว่างจากงานหลัก และที่สำคัญคนสมัยก่อนเขาจะหวงวิชา ไม่ค่อยอยากสอนใคร พอเข้าสู่ช่วงที่มีความนิยมเกี่ยวกับโคมมากขึ้นแล้วนั้น ก็ได้นำมาพัฒนา มาเป็นโคมแปดเหลี่ยม โคมเพชร”

นอกจากนี้ พ่อเพชร ลูกชายคนกลางของแม่บัวไหล ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า “ลูกของแม่บัวไหลนั้นมี 8 คน และลูกทุกคนจะทำโคมไฟเป็นหมด เพราะตอนเด็ก ๆ แม่จะฝึกฝนให้ช่วยกันทำเมื่อก่อนฐานะทางครอบครัวค่อนข้างยากจน และครอบครัวนั้นยังมีอาชีพทำสวน แล้วก็สานชะลอมขาย ซึ่งแม่จะสานไปส่งที่กาดหลวงเอารายได้จากตรงนี้มาเลี้ยงลูกๆ พอแก่ตัวขึ้นก็ไม่มีแรงทำสวนเหมือนเมื่อก่อน จากนั้นมาคุณแม่ก็ได้หันมาทำโคมอย่างจริงจัง เพื่อหารายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัว คุณแม่จึงเป็นคนแรกที่คิดริเริ่มทำโคม ต่อมาก็มีชาวบ้านที่สนใจขอเข้ามาเรียนรู้วิธีการทำโคมจากคุณแม่บัวไหล ซึ่งแต่ก่อนมีไม่กี่คนที่ทำโคมเป็น และมีบ้านไม่กี่หลังคาที่มีการสอนทำโคม พอแต่ละบ้านทำสวนไม่ได้แล้วก็หันมาหัดทำโคมกันหมดทุกหลังก็กลายมาเป็นทั้งหมู่บ้านที่ทำโคมขาย ซึ่งจุดเริ่มก็มาจากแม่คนเดียวนี้ล่ะ”

พร้อมกันนี้ พ่อเพชร ยังได้พูดถึงประเภทของโคมไว้ว่า “สำหรับประเภทของโคม นั้นก็มีมากทีเดียว ต่อมาสมัยพ่อก็จะมีโคมจีน โคมญี่ปุ่น อย่างของเรานั้นแต่ก่อนก็จะเป็นกระดาษแก้วพอตอนหลังมากระดาษแก้วมันไม่ค่อยทน โดนแดดนานไปก็จะแตก จึงคิดพัฒนามาเป็นกระดาษสา ที่ค่อนข้างทนขึ้นมาหน่อย และจากกระดาษสาต่อมาก็พัฒนามาเป็นผ้าดิบและก็มาเปลี่ยนเป็นผ้าโทเรล่าสุด จากนั้นก็ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างข้างในของโคมจากที่ตอนแรกเป็นไม้ทั้งหมดก็ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นเหล็ก โดยพัฒนามาจากตัวการ์ตูนที่เป็นช้าง ม้า ที่ได้มาจากการไปดูงานที่ประเทศจีน”

ด้านการสั่งซื้อและสั่งทำโคมนั้น แม่ครูบัวไหล เอ่ยว่า “สำหรับการสั่งซื้อโคมนั้นก็แล้วแต่เขาจะสั่ง หรือถ้ามีการออกแบบมาให้เรียบร้อยแล้วทางเราก็มีหน้าที่ประกอบชิ้นส่วนไปตามรูปแบบ แต่ก็ยังคงรูปแบบดั่งเดิมของงานไว้ก่อน และเราก็ค่อยพัฒนาในเรื่องแบบไปตามส่วนที่เหมาะสม สำหรับโคมนี่จะนำไปใช้โดยส่วนมากเลยในสมันก่อนนั้นจะทำไปใช้ในงานยี่เป็ง คนโบราณเขามีความเชื่อที่สืบมาเป็นรุ่นๆ ซึ่งถ้าเทียบและดูก็มีจิตกรรมฝาผนังวัดภูผารามซึ่งมีโคม 700 ปี โคม 700 ปี ก็จะเป็นโคมรูปแปดเหลี่ยมเป็นโคมต่อ แต่ก่อนก็จะใช้กระดาษสาซึ่งมีความเชื่อว่าใช้บูชาเทวดา ส่วนตอนเย็นก็ใช้จุดบูชาพระด้วยโคมสองลูกทุกบ้านจะนำไปไหว้พระสวดมนต์เพราะว่าแต่ก่อนใช้โคมแทนการจุดเทียนนั่นเอง”

สุดท้ายนี้ พ่อเพชร ได้กล่าวฝากไว้ว่า “ตัวเองก็อยู่กับอาชีพทำโคมมาเกือบทั้งชีวิต อยากที่จะเห็นลูกหลานรุ่นหลังให้ความสำคัญกับประเพณี วัฒนธรรมที่สืบทอดต่อๆกันมานี้ ก็อยากให้ลูกหลานได้อนุรักษ์สืบสานต่อไปอีก ให้มันอยู่กับเราไปนานๆ ไม่ใช่แค่ประเพณีในภาคเหนือเอง ลุงอยากให้โคมนี้มีการนำไปทำเป็นสินค้า O-TOP เพื่อที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ไม่เพียงแต่ช่วยให้ชาวบ้านได้มีอาชีพที่มั่นคงยั่งยืน แต่เป็นการแสดงถึงศักยภาพของประเทศที่ผลิตผลงานที่มีคุณภาพได้ดีและสวยงาม คงความเป็นล้านนา งานของประเทศไทยเราก็จะได้ออกสู่ตลาดโลก ชื่อเสียงก็เป็นของประเทศไม่ใช่ของลุงเพียงคนเดียว หรือไม่ใช่ของคุณแม่บัวไหลเท่านั้น โคมจะได้เป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศเราเอง อีกทั้งยังเป็นที่ขึ้นชื่อเป็นหน้าเป็นตาให้กับเราอีกต่างหาก อยากฝากถึงรัฐบาลด้วยว่าอยากให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมส่งเสริมอาชีพจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้ ให้ได้ออกสู่ต่างประเทศหน่อยครับ จะดีใจมากเลยหากยังเห็นหลานๆในรุ่นต่อไปยังคงรักษาประเพณีเหล่านี้สืบต่อกันไป”

ร่วมแสดงความคิดเห็น