ทำไมจึงสรงน้ำธาตุ

ทำไมจึงสรงน้ำธาตุ ทำไมเราจึงสรงน้ำพระธาตุเวลานี้

ขอบคุณภาพ เพจ Love Nakorn

หลายคนสงสัยว่า ทำไมคนล้านนา ต้องมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุ หรือเจดีย์ ในช่วงเวลานี้ ทั้งที่เป็นฤดูฝน เชียงใหม่นิวส์ พยายามหาคำตอบ จึงขออนุญาต นำบทความที่ เฟสบุค อ.บารเมศ วรรณสัย รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน ได้โพสต์ข้อความกล่าวถึง ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ ไว้ดังนี้

สรงน้ำพระธาตุ ถ้าแปลตามความหมาย คือ การทำความสะอาดพระธาตุนั่นเอง
.

ทำไมเราจึงสรงน้ำพระธาตุเวลานี้ ที่นี่มีคำตอบ คนเมืองหละปูน บ่าเก่าอายุ หกสิบขึ้นไปก็จะได้ยินคนเฒ่าว่า “หดน้ำธาตุ” ก็มีความหมายตรงตัว ทำไมจึงสรงน้ำธาตุ คนโบราณมักจะคิดเรื่องการเอาวิถีธรรมชาติ มาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินกิจกรรม  องค์พระธาตุคือสัญลักษณ์ตัวแทนของพระพุทธเจ้า สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้คนแสดงความเคารพต่อพระพุทธศาสนา คนล้านนา จึงคิดกิจกรรมที่รวมคนในการร่วมกันรักษา สิ่งที่เราเคารพบูชาตามฤดูกาลต่างๆ ตัวอย่างเช่น หน้าหนาว ห่มผ้าพระธาตุ ตานหลัวผิงไฟพระเจ้า คนล้านนาจริงๆแบบเบ้าโบราณ จะห่มพระธาตุยามหนาวเท่านั้น เพราะเหตุผลง่ายๆคืออากาศหนาว จึงมีคำว่า เดือนสี่เหนือ(มกรา) กินเข้าจี่เผาข้าวหลาม ตานหลัว ผิงหนาวพระเจ้า

เดือนยี่ ก็ยึดจารีตประเพณีความอุดมสมบูรณ์ หลังงานเก็บเกี่ยว ก็จะจุดประทีปโคมไฟ ส่องสว่าง เพื่อให้คนมาทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนายามค่ำคืน ถือว่าเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนา ได้กุศลผลบุญมหาศาล ที่มาโคมแสนดวงที่ขยายกิจกรรม เป็นที่รู้จักในปัจจุบันก็มาจากความเชื่อนี้ เดือนแปดเป็ง คืองานสรงน้ำหลังผ่านฤดูร้อน ฤดูหนาว ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ก็จะทำความสะอาดพระธาตุ เพราะจะได้สวยงาม ให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ทุกวิธีคิด คือการรวมคนที่เคารพองค์พระธาตุ คือตัวแทนสัญลักษณ์ ของพระพุทธศาสนา จึงเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนพึงกระทำเช่นนี้ จึงมีกิจกรรมเช่นนี้มาร่วมหลายศัตวรรษ

ส่วนในยุคนี้พอมีการไหลบ่าทางวัฒนธรรม คนภาคอื่นที่ไม่ใช่คนล้านนาพื้นถิ่นที่มามีอิทธิพลในนี้ มักจะนำ หรือจะทำอะไรที่ไม่ถูกตามกาลเวลามาทำเหมือนคนล้านนาทำกัน เพราะอาจไม่มีเวลามาตามเทศกาล มาแล้วก็เลยอยากทำความดีให้พระธาตุ ก็จะทำกันวันที่มา หรือวันที่มีความพร้อม

ถามว่าผิดไหม ถ้าว่าถึงความศรัทธาก็ไม่ผิดเพราะเจตนาคือ แสดงถึงความเคารพนับถือ เหมือนกุศโลบาย ขอคนล้านนาที่เพื่อต้องการคนมาวัดมาช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนานั่นเอง ประเพณี สรงน้ำพระธาตุเกิดจากกระบวนการวิธีคิดของชนล้านนา โบราณแบบนี้ ปัจจุบัน ส่วนมากงานประเพณีเหล่านี้ถูกไปขยาย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เราจึงเห็นเจ้าของงาน เป็นคนที่อื่น แต่มามีอำนาจโดยการแต่งตั้ง มาเป็นผู้คิด จัดกิจกรรม เหล่านี้ โดยไม่เข้าใจแบบเบ้าของคนโบราณ จึงมีอะไรแปลกๆเข้ามา วันนี้เราจึงเห็น ผู้นำหลายจังหวัดพูดถึงที่มาของวัฒนธรรม ในการแถลงข่าว สัมภาษณ์ พูดแบบหาที่มาไม่ได้ อธิบายไม่ได้ อาจเพราะไม่รู้ อวดรู้ หรือคนบอกไม่รู้ แต่สิ่งที่บอกมีแต่ว่าส่งเสริมการท่องเที่ยว ลูกเดียว จึงทำให้คนฟังไม่เข้าใจว่าทำเพื่ออะไร

ครับวันนี้ ได้ตอบคำถาม อธิบายตามภูมิปัญญาที่มี แก่ผู้คนหลายคนที่ฝากถามมา สุดท้ายจึงฝากบอกบุญว่าวันที่ 9 ถึง 15 พฤษภาคม 2565 เชิญชวนเอาน้ำขมิ้นส้มป่อย มาสรงน้ำพระธาตุ หดน้ำธาตุ เป็นการร่วมแรงศรัทธาต่อองค์พระธาตุ อันเป็นที่รักเคารพสักการะของเราอีกครั้งหนึ่ง”

ขอบคุณ Baramate Wannasai

*ส่วนในปี 2565 นี้วัดพระธาตุดอยสุเทพ ราชวรวิหาร จ.เชียงใหม่ มีกำหนดจัดงานประเพณี วันที่ 9-23 พ.ค. 65 วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร จ.ลำพูน กำหนดจัด 9-15 พ.ค. 65 และวัดอื่นๆ ในเชียงใหม่ ลำพูน ก็จัดงานในช่วงวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 วันพระใหญ่ หรือช่วงประเพณีแปดเป็ง นี้เหมือนกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น