เร่งเครื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน

โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย หรือโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะหลังเหมือนข่าวคราวเงียบไปบ้าง แต่ในทางปฏิบัติรัฐบาลยังคงผลักดันอย่างต่อเนื่อง จนขณะนี้งานโยธาในเฟส1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีความคืบหน้าขึ้นมากว่า 12% และภายในปีนี้จะคืบหน้าไม่น้อยกว่า 20% คาดไม่เกินปี2570 หรือ5ปีจากนี้เฟส1จะสามารถวิ่งให้บริการได้ ส่วนเฟส2 นครราชสีมา-หนองคาย น่าจะได้เริ่มสร้างกลางปีหน้า มีเป้าวิ่งให้บริการเต็มรูปแบบได้ในปี2572 นั่นหมายความว่าไม่เกิน 7ปีจากนี้จะสามารถวิ่งให้บริการได้ครบทั้ง 2 เฟส กรุงเทพฯ ถึง หนองคาย ระยะทางกว่า 600 กม. เวลาไม่เกิน7ปีดังกล่าวถือว่าไม่นานนักที่จะรอคอยสำหรับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อประชาชน

รมว.ต่างประเทศจีน ยินดีโครงการคืบหน้า

ในระหว่างที่นาย หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน เยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ 4-5 ก.ค.ที่ผ่านมา นอกจากได้เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ทำการหารือข้อราชการ ยืนยันความเป็นมิตรประเทศที่สำคัญในภูมิภาคและหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านแล้ว นายหวัง อึ้ ยังได้เข้าพบและหารือกับนายดอน ปรมัติวินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยช่วงหนึ่งของการหารือ นายหวัง อี้ ได้แสดงความยินดีที่การก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงของไทย – จีน มีความคืบหน้า เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์จะสามารถเชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจ 3 ประเทศ(ไทย ลาว จีน) และอีอีซีของไทย ซึ่งจะเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ที่สำคัญต่อไป

เฟส1 กรุงเทพฯ – โคราช คืบหน้า 12% ภายในสิ้นปีนี้คืบหน้าไม่น้อยกว่า20%

ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางราง พบว่าการก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย – จีน เฟสที่1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. ภาพรวมถึงขณะนี้มีความคืบหน้าไปกว่า 12% โดยเฉพาะการก่อสร้างใน 3สัญญาที่กรมการขนส่งทางรางลงพื้นที่ตรวจสอบมีการก่อสร้างเร็วขึ้นมาก คือ สัญญาที่2-1 ช่วงสีคิ้ว – กุดจิก ระยะทาง 11 กม. การก่อสร้างคืบหน้า 89.40% สัญญาที่3-4 ลำตะคอง – สีคิ้ว และ กุดจิก – โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. การก่อสร้างคืบหน้า 27.78% สัญญาที่4-7 ช่วงสระบุรี – แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. ก่อสร้างคืบหน้า 23%

อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบายว่า ภายในปีนี้การก่อสร้างงานโยธาเฟส1จะมีความคืบหน้าไม่น้อยกว่า20% เพราะปัญหาและอุปสรรคได้รับการแก้ไขจนคลี่คลาย ไม่ว่าเรื่องแรงงานที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ในช่วงล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของโควิดก็คลี่คลายแล้ว เรื่องการเวนคืนที่ดินทางรัฐบาลก็แก้ไขปัญหาให้แล้ว และเรื่องที่มีกลุ่มคนบุกรุกพื้นที่ก่อสร้างได้มีการเจรจาจนกลุ่มผู้บุกรุกยอมออกนอกพื้นที่ก่อสร้างแล้ว ดังนั้นการก่อสร้างจากนี้จะทำได้รวดเร็วขึ้นมาก ส่วนสัญญาการก่อสร้างที่มีทั้งหมด 14 สัญญา ลงนามกับผู้รับเหมาแล้ว 10 สัญญา เหลืออีก 3 สัญญาจะลงนามกับผู้รับเหมาได้ภายในปีนี้

ภายใน 5ปีจากนี้ เริ่มวิ่งให้บริการเฟส1

อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ยังบอกถึงเป้าหมายการก่อสร้างและการวิ่งให้บริการด้วยว่า ภายในปี2569 หรืออีกประมาณ 4 ปีข้างหน้าจะได้เห็นรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน เฟส1 ช่วงกรุงเทพฯ- นครราชสีมา วิ่งทดสอบระบบ และในปี2570 หรืออีกประมาณ 5 ปีจากนี้จะสามารถวิ่งให้บริการประชาชนได้เต็มรูปแบบ โดยในส่วนของขบวนรถทางจีนอยู่ระหว่างออกแบบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปแบบภายในปีนี้เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการออกแบบรายละเอียดและการผลิตต่อไป

คาดเฟส2 นครราชสีมา – หนองคาย 356 กม. เริ่มสร้างปีหน้า

ด้านเฟส2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 356.1 กม. การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.ได้สรุปการศึกษาออกแบบและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เสนอไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. แล้ว ทาง สผ.มีความเห็นให้กลับมาจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม แล้วทาง รฟท.ได้จัดทำและเสนอกลับไปที่ สผ. เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมชี้แจงต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามแผนงานของ รฟม.จะสรุปรายละเอียดเสนอบอร์ด รฟท. ในช่วง ต.ค. และเสนอไปที่กระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการช่วงปลายปีนี้ จึงคาดว่าจะเปิดประกวดราคาก่อสร้างงานโยธาได้ในต้นปีหน้า จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณเดือน ส.ค. ปีหน้า 2566 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี แล้วเสร็จปี 2570 – 2571 และจะเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบประมาณปี 2572

สำหรับเฟส2 นครราชสีมา-หนองคาย 356.1 กม. จุดเริ่มต้นจะอยู่ที่หลังสถานีนครราชสีมา จุดสิ้นสุดที่ริมแม่น้ำโขงฝั่งไทย จ.หนองคาย มี 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่(จ.นครราชสีมา) สถานีบ้านไผ่(จ.ขอนแก่น) สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย โดยแนวเส้นทางก่อสร้างมีภูเขา การเวนคืนที่ดินน้อยกว่าเฟส1 การก่อสร้างหลักๆ จะสร้างไปตามแนวเขตทางรถไฟที่มีอยู่แล้ว ทำให้ใช้เวลาในการก่อสร้างน้อยกว่าเฟส1 แม้ว่าระยะทางจะยาวกว่าก็ตาม

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายอยู่แล้วว่ารถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน มีความเป็นไปได้น้อยที่จะเก็บค่าตั๋วได้คุ้มต้นทุนการก่อสร้าง ซึ่งก็เหมือนกับรถไฟฟ้าความเร็วสูงในหลายประเทศ ดังนั้นความคุ้มค่าจึงต้องดูที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างอื่นที่จะเกิดขึ้น เช่น ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวจะทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนและอีกหลายประเทศที่เชื่อมต่อถึงกันเข้ามาในไทยมากขึ้นผ่านทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน , ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากการเดินทางที่รวดเร็วขึ้น ใช้เวลาเดินทางน้อยลง , พื้นที่ตามสองข้างทางเส้นทางรถไฟฯ จะมีมูลค่าสูงขึ้นและจะถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งทางเศรษฐกิจอื่นๆซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะในภาคอีสานจะถูกยกระดับให้ดีขึ้นได้อีก , ช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนในไทยมากขึ้น จากการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วและทันสมัย เป็นต้น

โดยความคุ้มค่าอื่นที่ยกตัวอย่างมา จะประเมินออกมาเป็นตัวเลขผลลัพธ์ เช่น ช่วยให้จีดีพีเติบได้เท่าไหร่ น่าจะมีการประเมินกันหลังสร้างเสร็จและเปิดบริการไปได้สักระยะ

อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลมุ่งหวังให้รถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน เป็นส่วนเชื่อมโยงประเทศกลุ่มแม่น้ำโขงและจีน พร้อมเป็นส่วนผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภูมิภาคอาเซียน จะส่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้นระยะเวลาอีกไม่เกิน 7 ปีจากนี้ที่คาดว่ารถไฟฟ้าความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ – หนองคายจะสร้างเสร็จพร้อมวิ่งให้บริการตลอดระยะทาง 609.1 กม. จึงไม่ใช่ระยะเวลาที่นานเกินกว่าจะรอแต่อย่างใด

ร่วมแสดงความคิดเห็น