แม่โจ้ ออกแถลงการณ์โครงการส่งเสริมเกษตรกรฯ

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ออกแถลงการณ์เรื่อง โครงการส่งเสริมและพัฒนา ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่เกษตรกรไทยฝ่าวิกฤติโควิด 19 ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ (Modern Agriculture – BCG)

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยแม้โจ้ ออกแถลงการณ์ เรื่อง โครงการส่งเสริมและพัฒนา ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่เกษตรกรไทยฝ่าวิกฤติโควิด 19 ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ (Modern Agriculture – BCG)ระบุว่า

ตามที่คณะรัฐมนตรี ในการประชุม เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 มีมติเห็นชอบเรื่อง การอนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยเบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุนเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID- 19) ภายใต้กรอบวงเงินรวมทังสิ้น 2,054,053,900 บาท ให้กับมหาวิทยาลัย
จำนวน 4 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับงบประมาณโครงการส่งเสริมและพัฒนา ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่เกษตรกรไทย ฝ่าวิกฤติโควิด 19 ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ (Modern Agriculture – BCG) จำนวน 560,949,700 บาท โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้จากภาคการผลิตและภาคบริการที่ทันสมัยในพื้นที่เป้าหมาย กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย โดยมีกลุ่มเป้าหมายวิสาหกิจชุมชน จำนวน 5,001 กลุ่ม ประกอบด้วย 7 กิจกรรมย่อย ดังนี้

กิจกรรมย่อยที่ 1 การเพาะเห็ดเศรษฐกิจมูลค่าสูง 6 ชนิด เห็ดนางฟ้า เห็ดภูฐาน เห็ดหัว เห็ดฟาง เห็ดนางรม เห็ดบด
กิจกรรมย่อยที่ 2 การถ่ายทอดนวัตกรรมการปรับปรุงปุ๋ยอินทรีย์ ปัจจัยการผลิตชีวภัณฑ์ ป้องกันโรค และแมลงในพืชไร่ พืชสวนครบวงจร ด้วยสมุนไพรไทย
กิจกรรมย่อยที่ 3 การเลี้ยงปลาดุกที่มีสารโปรตีนและโอเมก้า พร้อมผลิตอาหารปลาอินทรีย์เพื่อลด รายจ่ายเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร
กิจกรรมย่อยที่ 4 การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการผลิตไก่พื้นเมืองโปรตีนสูง เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร
กิจกรรมย่อยที่ 5 การส่งเสริมและฝึกการเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ เพื่อลดรายจ่ายเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร
กิจกรรมย่อยที่ 6 การผลิตลำไยคุณภาพสูง การคัดกล้าพันธุ์ลำไย การปรับปรุงคุณภาพลำไย เทคนิคการตัดแต่งพืชไม้ผล การทำลำไยทรงเตี้ย ตัดแต่งกิ่งเพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต ส่งเสริมกล้าลำไยคุณภาพสูง
กิจกรรมย่อยที่ 7 การปลูกพืชผักสวนครัวแบบสมาร์ทไฮโดรโปรนิกส์ในระบบเกษตรปลอดภัย เช่น สลัดคอส กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เรดคอร์ส บัตเตอร์เฮด เบบี้รอคเกต จากเมล็ดพันธุ์ผักคุณภาพดี

หลังจากที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณ หัวหน้าโครงการได้ประชุมกับหัวหน้ากิจกรรมย่อย 7 กิจกรรม ปรากฏว่ามีหลายประเด็นที่เป็นข้อกังวล ถึงวิธีการดำเนินงานที่หัวหน้าโครงการจัดให้อบรมเกษตรกร
จำนวน 14 ครั้ง ๆ ละ 2,381 คน ผู้เข้าร่วมโครงการต้องอบรมทั้ง 7 กิจกรรม ซึ่งวิธีการดังกล่าวและระยะเวลาที่จำกัด ทำให้หัวหน้ากิจกรรมย่อยเชื่อว่าอาจจะไม่สามารถบรรลุตัวชี้วัด (เพิ่มรายได้และลดรายจ่าย) หากไม่ ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน จึงเสนอคืนโครงการทั้ง 7 กิจกรรมย่อย ด้วยเหตุผลหลัก ๆ ดังนี้
1) การจัดซื้อจัดจ้างมีระยะเวลากระชั้นชิดเกินไป ไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนด
2) ระยะเวลาดำเนินการจัดฝึกอบรมนานเกินไป ทำให้เกิดผลกระทบต่องานประจำ
3) งบประมาณที่ได้รับไม่สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินการ และบางรายการไม่เหมาะสม
4) รายการเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้รับไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่
5) ระยะเวลาดำเนินการของตัวชี้วัดใช้ระยะเวลานานกว่าจะวัดผลสัมฤทธิ์ได้
6) ระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรมทับซ้อนกับภารกิจการเรียนการสอนของคณะ
7) ความชัดเจนในการดำเนินโครงการไม่แน่นอน

ภายหลังจากกิจกรรมย่อยได้คืนโครงการ ประกอบด้วยข้อเสนอแนะความเห็นจากหลายฝ่าย อธิการบดีได้เชิญประชุมหารือ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ณ ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อกำหนดแนว
ทางการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าเกิดประโยชน์ต่อประชาชน

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้ทำหนังสือกำชับถึงการดำเนินโครงการให้เกิดความคุ้มค่าและเป็นไปตามระเบียบ และคณะกรรมาธิการศึกษา การจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณให้มหาวิทยาลัย 4 แห่งที่ได้รับงบประมาณได้ขี้แจงและตอบคำถาม โดยมีคำถาม จากมหาวิทยาลัยอื่นที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ควรดำเนินการด้วยความระมัดระวังในบางประเด็น และคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวได้เข้ามากำชับถึงการดำเนินโครงการให้โปร่งใสและเกิดความคุ้มค่ากับผู้เข้ารับการอบรม และการดำเนินโครงการจะสามารถตอบวัตถุประสงค์ได้หรือไม่ จึงเสนอมา 2 แนวทาง คือ
๑) คืนโครงการ หรือ ๒) หากจะดำเนินการต่อให้ปรับโครงการ/กิจกรรม ที่เป็นนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย แม่โจ้ที่สามารถเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายที่มหาวิทยาลัย เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2565

และต่อมามีการอภิปรายของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 มีการกล่าวถึง โครงการทั้ง 4 โครงการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณว่า โครงการของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ดำเนินการก่อนหน้า
ส่อไปในทางทุจริต ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงต้องรอบคอบในการดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยในการประชุม ครั้งที่ 11/2565 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 และครั้งที่ 12/2565 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ได้มีมติระหว่างการเสนอขอปรับเปลี่ยนโครงการ วิธีการ และเสนอขอขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ ให้ชะลอการดำเนินโครงการฯ ทุกขั้นตอนไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับผลการพิจารณาจากกระทรวงการ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรณีที่ได้รับการอนุมัติให้ปรับเปลี่ยนและขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ แล้ว ให้คณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้งขึ้นทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการดำเนินโครงการฯ หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงเห็นควรเสนอคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยพิจารณาให้ยุติ
การดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดทำหลักเกณฑ์ในการทำโครงการให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับมติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานทางราชการให้ถูกต้อง
ครบถ้วนในทุกขั้นตอน ทั้งนี้ การชะลอโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้และใช้ภาษีของประชาชนให้เกิดความคุ้มค่า ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนสูงสุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น