30 ปีที่จากไป ราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 หรือวันนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คนไทยทั่วประเทศต่างช็อคกับข่าวการจากไปของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ นักร้องชื่อดัง เจ้าของสมญานาม “ราชินีลูกทุ่งเมืองไทย”

พุ่มพวง ดวงจันทร์ หรือชื่อจริง นางรำพึง จิตรหาญ เกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2504 เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี เริ่มเข้าสู่เส้นทางสายดนตรีจากการประกวดร้องเพลงตามงานวัด ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ แม้เธอจะจบการศึกษาแค่ ป.4 และไม่สามารถอ่านออก เขียนได้ แต่เธอกลับมีความจำเป็นเลิศ สามารถจดจำเนื้อร้องของเพลงได้เป็นอย่างดี เมื่อเริ่มกวาดรางวัลจากงานประกวดร้องเพลงหลายเวที เธอก็ได้ฝากตัวกับไวพจน์ เพชรสุพรรณ ก่อนที่จะได้อัดเสียงเพลง “แก้วรอพี่” ลงแผ่นเสียง โดยใช้ชื่อในวงการว่า “น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ” ก่อนที่ต่อมามนต์ เมืองเหนือ จะเห็นแววแล้วนำไปปลุกปั้นเป็นนักร้อง โดยใช้ชื่อว่า “พุ่มพวง ดวงจันทร์”

พุ่มพวง เริ่มโด่งดังตั้งแต่เข้าไปอยู่กับบริษัท อโซน่า โปรโมชั่น เมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยได้ครูลพ บุรีรัตน์ ครูเพลงชื่อดัง แต่งเพลงให้ โดยมีผลงานเพลงฮิตติดหูแฟนเพลงทั่วประเทศ เช่น สาวนาสั่งแฟน , นัดพบที่หน้าอำเภอ , ตั๊กแตนผูกโบว์ , เงินน่ะมีไหม , ขอให้รวย , คนดังลืมหลังควาย โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2528 พุ่มพวง ประสบความสำเร็จมากที่สุด จากอัลบั้ม “อื้อฮือ…หล่อจัง” ซึ่งมีเพลงดังอย่าง กระแซะเข้ามาซิ , อื้อฮือ…หล่อจัง ซึ่งอัลบั้มชุดนี้มียอดขายเทปมากกว่า 1.5 ล้านตลับ ก่อนที่ปีถัดมา เธอได้ขึ้นแสดงคอนเสิร์ตที่โรงแรมดุสิตธานี กลายเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของวงการเพลงลูกทุ่งไทย

ด้านชีวิตส่วนตัว พุ่มพวงเคยคบหาดูใจกับ ธีระพล แสนสุข นักดนตรี ขณะอยู่ในวงดนตรีของไวพจน์ เพชรสุพรรณ ก่อนที่จะเลิกรากันไป และได้พบกับ ไกรสร แสงอนันต์ นักแสดงชื่อดัง ในเวลาต่อมา และได้แต่งงานกัน โดยมีลูกชายด้วยกัน 1 คน ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2534 พุ่มพวงได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์โรงพยาบาลศิริราชว่าป่วยเป็นโรคเอสแอลอี หรือ โรคภูมิแพ้ตัวเอง ทำให้เธอต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่อาการกลับไม่ดีขึ้น ก่อนที่จะเสียชีวิตลง ณ โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ในคืนวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ด้วยอายุเพียง 30 ปี

แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 30 ปีแล้ว แต่แฟนเพลงทั่วประเทศยังคงคิดถึงเธอ “นักร้องบ้านนอก” จากเมืองสุพรรณ ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง “ราชินีลูกทุ่ง” ในใจชาวไทยตลอดกาล

ที่มา นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม

ขอบคุณรูปภาพจาก พิพิธภัณฑ์ พุ่มพวง ดวงจันทร์

ร่วมแสดงความคิดเห็น