คืบหน้ารถไฟทางคู่ เด่นชัย – เชียงราย ทางรถไฟสายใหม่ของภาคเหนือ

หลังจากที่คนเชียงรายรอรถไฟมาหลายทศวรรษ ดูเหมือนว่าความฝันของชาวเชียงรายใกล้เป็นจริงขึ้นมาอีกระดับเมื่อโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย – เชียงราย มีความคืบหน้ามากขึ้น โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2571 นี้

สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งเป็นทางรถไฟสายใหม่ระยะเร่งด่วน ภายใต้โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565  ซึ่งโครงการนี้ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ซึ่งโครงการนี้จะเริ่มก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ในพื้นที่จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย เริ่มต้นจากสถานีรถไฟเด่นชัย จังหวัดแพร่ สิ้นสุดที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย รวมระยะทาง 323.10 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน85,345 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 ถึง 14 มกราคม พ.ศ. 2571 

โดยความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติผ่อนผันการใช้ “พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ” เนื่องจากมีงาน “ก่อสร้างอุโมงค์” ทางวิ่งรถไฟที่มีส่วนพาดผ่านลุ่มน้ำชั้นที่ 1

สำหรับพื้นที่ที่ได้รับการอนุมัตินั้น เป็น “ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ” ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงเหนือ บริเวณ ต.โชคชัย อ.ดอยหลวง และต.ห้วยซ้อ อ.เชียงของ จ.เชียงราย รวมระยะทาง 2,376 เมตร (คิดเป็นพื้นที่รวม 52 ไร่ 2 งาน 57 ตารางวา) ซึ่งผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) แล้ว

ทั้งนี้ ครม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ ดำเนินตามมติ ครม. วันที่ 9 ส.ค. 2565 กรณีการดำเนินโครงการใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐที่มีความจำเป็นต้องเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า ต้องดำเนินการ “ปลูกป่าทดแทน” เพื่อการอนุรักษ์ หรือรักษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

สำหรับผลประโยชน์ที่สำคัญจากโครงการนี้ เช่น สามารถช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านพลังงาน ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน สนับสนุนการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศจีนตอนใต้และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาและกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ภาคเหนือตอนบนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า หากโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ การเดินทางและการขนส่งสินค้าในภาคเหนือ จะสะดวกมากขึ้น และช่วยให้ความเจริญ มูลค่าทางการค้าและเศรษฐกิจขยายไปยังพื้นที่อย่างทั่วถึงและยั่งยืน

แต่ในขณะเดียวกัน โครงการดังกล่าว เป็นโครงการขนาดใหญ่ ย่อมมีผลกระทบในด้านต่างๆโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดำเนินการ ดังนั้น เราควรติดตามการผลักดันโครงการขนาดใหญ่นี้ ควบคู่ไปกับการรักษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุด

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ , สำนักนายกรัฐมนตรี , หอสมุดรัฐสภา

ร่วมแสดงความคิดเห็น