(มีคลิป) กำหนดเปิดสนามบินแม่ฟ้าหลวงยังไม่ชัดเจน

กำหนดเปิดสนามบินแม่ฟ้าหลวงยังไม่ชัดเจน เร่งระดมทีมงานเคลียร์รันเวย์

วันที่ 4 ส.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ได้มีผู้ที่ต้องการเดินทางโดยเครื่องบิน ได้เดินทางมาที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เพื่อขึ้นรถบัสที่ทางผู้ให้บริการสายการบินต่างๆ ได้จัดมาให้บริการแก่ผู้โดยสาร ซึ่งทางสายการบินได้แจ้งกำหนดการเดินทางออกจากสนามบินแม่ฟ้าหลวงให้กับผู้โดยสารได้ทราบ เพื่อให้มาขึ้นรถตามเวลาที่กำหนด ก่อนจะนำผู้โดยสารไปขึ้นเครื่องที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2-3 ชั่วโมง

สำหรับข้อมูลรถบัสรับส่งผู้โดยสาร ของแต่ละสายการบิน ในวันที่ 4-5 ส.ค. ประกอบด้วย สายการบินแอร์เอเชีย วันที่ 4 ส.ค. มีรถบัสออกจาก ทชร. เวลา 10.00 น. และ 13.00 น. รถออกจาก ทชม. เวลา 18.10 น. และ 20.40 น. สายการบินนกแอร์ วันที่ 4 ส.ค. รถบัสออกจาก ทชร. เวลา 06.00 น. และ 10.10 น. ส่วนวันที่ 5 ส.ค. รถออกจาก ทชร. เวลา 06.00 น. และ 13.20 น.

สายการบินไทยสไมล์ รถบัสออกจาก ทชร. 09.00 น. และ 16.00 น. สายการบินไทยเวียตเจ็ท รถออกจาก ทชร. เวลา 09.00 น. รถออกจาก ทชม. เวลา 14.00 น. และสายการบินไทยไลออนแอร์ ไม่มีรถบริการรับส่งผู้โดยสาร แต่มีการสนับสนุนค่าโดยสารคนละ 200 บาท

ส่วนความคืบหน้าการเคลื่อนย้ายอากาศยานของสายการบินนกแอร์ หลังจากทีมช่างเคลื่อนย้ายอากาศยาน เข้าทำการเคลื่อนย้ายเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 เที่ยวบิน DD108 ที่ลื่นไถลออกจากรันเวย์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 65 และได้ระดมทีมช่างและอุปกรณ์กู้ภัยอากาศยานจากหลายหน่วยงานเข้าเก็บกู้เครื่องบินลำดังกล่าว และล่าสุดทีมผู้ปฏิบัติงานได้ประสบความสำเร็จในการนำเอาเครื่องบินออกจากบริเวณพื้นดินด้านข้างรันเวย์ และนำเครื่องบินขึ้นมาจอดบนบนรันเวย์ได้เมื่อเวลาประมาณ 04.00 น. ของวันนี้ (4 ส.ค.)

สำหรับเหตุการณ์นี้ หลายคนที่สงสัยเกี่ยวกับเรื่องความไม่พร้อมของผู้ดำเนินงานสนามบินในการบริหารจัดการเพื่อเคลื่อนย้ายอากาศยานลำดังกล่าวใน 3 ประเด็นหลัก กล่าวคือ ทำไมสนามบินถึงต้องใช้ระยะเวลานานถึง 5 วันในการเคลื่อนย้าย ทำไมสนามบินต้องขอรับการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ในการกู้ภัยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นๆ ทั้ง กรมท่าอากาศยาน กองทัพอากาศ การบินไทย สนามบินนานาชาติ ไม่มีอุปกรณ์เป็นของตนเอง และมาตรฐานการดำเนินงานของสนามบินในเรื่องดังกล่าว

ทางแอดมินเพจ GATC Thailand ได้ให้คำอธิบายว่า เรื่องการเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้อง (Disabled Aircraft Removal) มาตรฐาน ICAO (International) ปฎิบัติและข้อกำหนดภาครัฐ กพท.ระบุไว้ว่า “เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของสายการบินเกิดเหตุ โดยมีสนามบินให้การสนับสนุน แต่ในกรณีที่สายการบินไม่สามารถดำเนินการเคลื่อนย้ายได้ สนามบินจะเข้าดำเนินการเอง” หรือ ทำงานร่วมกันภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ

ซึ่งตรงนี้ กำหนดไว้ใน “ แผนการเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้อง (Disabled Aircraft Removal)” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคู่มือการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ (Aerodrome Manual) ที่ได้รับความเห็นชอบโดย กพท. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินพลเรือน (Regulator) ของประเทศไทย

และในส่วนของสายการบินนกแอร์ (ผู้ประกอบการสายการบินอื่นๆประเทศไทย) ต่างต้อง มีแผนฉุกเฉินการเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้องที่สอดคล้องกับแผนฉุกเฉินของสนามบิน

โดยในแผนเคลื่อนย้ายฯ ระบุว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์อากาศยานขัดข้องให้การบินไทยเป็นผู้ดำเนินการเข้ามาเคลื่อนย้าย

เนื่องจาก การบินไทยเป็นผู้ประกอบการที่มีขีดความสามารถ มีอุปกรณ์ ความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ เพียงรายเดียวในประเทศไทย และต่างประเทศก็เคยมาขอให้ไปช่วยฯ

ดังนั้น การบินไทยต้องจัดส่งเจ้าหน้าทีมเคลื่อนย้ายฯ (Aircraft Recovery) และวัสดุ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจากศูนย์กลางคือกรุงเทพฯ เดินทางเข้ามาดำเนินการ จึงเป็นที่มาว่าทำไม การบินไทยจึงต้องส่งเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์สนับสนุนที่เกี่ยวข้องในส่วนของการบินไทยเดินทางมาที่สนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย

สำหรับประเภทอุปกรณ์หลัก อุปกรณ์เสริมในการดำเนินเคลื่อนย้ายฯ ขึ้นอยู่กับลักษณะท่าทางของอากาศยาน เช่น ล้อหน้าจมดินมั้ย ยางแตกมั้ย ออกไปไกลจากทางวิ่งกี่เมตร น้ำหนักของอากาศยานเป็นจำนวนเท่าไร โดยในกรณีนี้ อากาศยานตกลงด้านข้างทางวิ่ง และจมดิน จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์แผ่นปูพื้นทางชั่วคราวที่สามารถรับน้ำหนักอากาศยานได้

สำหรับข้อมูลตรงนี้อยู่ในขั้นตอนการสำรวจ การประเมินพื้นที่ฯ สภาพแวดล้อม และการประเมินเวลาในการเคลื่อนย้ายฯ ซี่งทีมงานฯ ได้มีการประชุมประเมินระยะเวลาในการเคลื่อนย้ายฯ คือ ระหว่างวันที่ 1- 3 ส.ค.65 (3 วัน) หรือเปิดบริการ 06.00 น.ของวันที่ 4 ส.ค.65

สำหรับวัสดุอุปกรณ์อื่นๆที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ ทั้ง กรมท่าอากาศยาน กองบิน 41 ทหารอากาศ หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงราย เป็นข้อมูลที่สนามบินได้จัดทำรายชื่อหน่วยงาน จำนวนวัสดุอุปกรณ์กับหน่วยงานนั้น ในแผนเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้องของสนามบิน อยู่แล้ว

ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท.เท่านั้น แต่ทุกสนามบินในประเทศไทยจำนวน 39 แห่ง ทั้งของ ทอท. (6 แห่ง) กรมท่าอากาศยาน (29 แห่ง) บางกอกแอร์เวย์ ( 3 แห่ง) และอู่ตะเภา ต่างดำเนินการเป็นมาตรฐานเดียวกัน ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ จะต้องติดต่อหน่วยงานใด ประเภทอุปกรณ์อะไร จำนวนเท่าไร การขนส่งด้วยวิธีการใด ระยะเวลาในการเดินทางมาเมื่อไร ซึ่งรายละเอียดต่างหากที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการฟื้นฟู (Recovery) หรือเคลื่อนย้ายอากาศยาน เพื่อให้สนามบินกลับมาเป็นบริการให้เร็วที่สุด

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 65 ในช่วงบ่ายๆ ขณะที่เตรียมลากจูงอากาศยานลำดังกล่าวขึ้นมาบนทางวิ่ง เกิดปัญหาข้อขัดข้องทางเทคนิค+สภาพแวดล้อมระหว่างลากจูงอากาศยาน ทำให้ทางทีมงานฯ ต้องปรับแผนการดำเนินการใหม่ทั้งหมด

และได้มีการประชุมฯ ร่วมกันในเวลา 21.00 น.เพื่อประเมินสถานการณ์และสรุปว่า ต้องประกาศ NOTAM ขยายระยะเวลาปิดทางวิ่ง ออกไปอีก 2 วัน คือ วันที่ 4-5 ส.ค.65 (เปิดวันเสาร์ที่ 6 ส.ค.65 เวลา 06.00 น.)

สำหรับ สาเหตุหลักสำคัญ ในการประกาศขยายระยะเวลา คือการแจ้งให้ผู้ประกอบการสายการบินได้มีการวางแผนล่วงหน้าในการจัดตารางเที่ยวบิน และสื่อสารแจ้งผู้โดยสารล่วงหน้าในการตัดสินเดินทางโดยเร็วที่สุด พร้อมการอำนวยความสะดวกของผู้โดยสาร ซึ่งหากเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้องได้ก่อนเวลา สนามบินก็พร้อมที่จะกลับมาเปิดให้บริการทันที ก่อนเวลาที่ประกาศไว้

อย่างไรก็ตาม หากทุกสนามบินในประเทศไทยทั้ง 39 แห่ง ต้องจัดให้มีอุปกรณ์กู้ภัย/เคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้องประจำทุกสนามบิน เพื่อใช้เตรียมไว้สำหรับรอเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้องที่เกิดจากอุบัติเหตุ อุบัติการณ์รุนแรง คงต้องใช้งบประมาณมากมายมหาศาล รวมทั้งมีตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายนี้ มีจำนวนไม่มากในประเทศไทย

การเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้องฯ เป็นการดำเนินการหลังจากเหตุการณ์อุบัติเหตุ อุบัติการณ์สิ้นสุด และอากาศยานดังกล่าวถูกปลดพิทักษ์หรือการพิจารณาจากคณะกรรมการสอบสวนฯ แตกต่างจากการกู้ภัยที่กำลังดำเนินการระหว่างอากาศยานประสบภัย

แต่อย่างไรก็ตาม การเก็บกู้อากาศยานยังมีความยากอยู่ เพราะต้องวางแผนการลากจูงว่าจะลากหัวเครื่องบินแล้วตีวงเลี้ยว หรือจะลากจูงด้านหลัง เพื่อลากเข้ามาจอดที่หลุมจอดที่ 7 ตามแผนงาน นอกจากนี้การทำความสะอาดและเคลียร์พื้นที่ก็ยังต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เพราะการลื่นไถลออกนอกรันเวย์ดังกล่าว ได้ส่งผลให้ไฟสัญญาณบอกแนวรันเวย์ได้รับความเสียหายทั้งหมด 4 ดวง ซึ่งต้องทำการซ่อมแซมให้แล้วเสร็จก่อนทำการเปิดสนามบิน และจะต้องทำความสะอาดคราบน้ำมันเครื่องที่เลอะอยู่บนรันเวย์ ตลอดจนการปรับพื้นที่ และเก็บอุปกรณ์กู้ภัยทั้งหมดออกจากพื้นที่ ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการพอสมควร โดยถ้าหากสามารถเก็บกู้อากาศยานได้เรียบรัอยภายในวันนี้ ก็อาจจะมีประกาศเปิดท่าอากาศยานในเวลา 06.00 น. ของวันที่ 5 ส.ค. แต่หากการเก็บกู้ยังไม่เรียบร้อยก็อาจต้องเปิดท่าอากาศยานในวันที่ 6 ส.ค. ตามประกาศฉบับเดิม

ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมประชุมเพื่อวางแผนการทำงานกันตั้งแต่เวลา 09.00 น.แล้ว และในเบื้องต้นทราบว่า ทีมช่างเก็บกู้จะเริ่มดำเนินการลากจูงอากาศยานอีกครั้งในเวลาประมาณ 11.30 น. ซึ่งความคืบหน้าผู้สื่อข่าวจะติดตามมานำเสนอตามลำดับต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม : ระทึก นกแอร์ เที่ยวบิน DD108 ลื่นไถลออกนอกรันเวย์ ,ยกเลิกเที่ยวบิน ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง หลังเหตุเครื่องบินไถล ,ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง ประกาศปิดรันเวย์ 3 วัน ,ท่าอากาศยานเชียงใหม่ รองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินจากแม่ฟ้าหลวง ,(มีคลิป) เร่งเคลียร์รันเวย์ คาดใช้เวลา 3 วันจะกลับมาเปิดทำการ ,(มีคลิป) ความคืบหน้าเครื่องบินไถลฯ อาจเสร็จก่อนกำหนด ,(มีคลิป) กู้นกแอร์ล้อหลังทรุด ปิดสนามบินเพิ่มถึงวันที่ 5 ส.ค. ,เคลื่อนย้ายเครื่องบินนกแอร์ได้แล้ว ,สนามบินเชียงราย ทำงานหนักทั้งคืน ดึงนกแอร์ขึ้นรันเวย์ได้แล้ว ,(มีคลิป) คาดจะปล่อยเที่ยวบินแรกภายในวันนี้ ,(มีคลิป) ย้ายเครื่องนกแอร์พ้นรันเวย์ พร้อมบินเที่ยวแรกคืนนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น