AIS เดินหน้าขยายผลหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์”

AIS เดินหน้าขยายผลหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” จับมือ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย สร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ เสริมทักษะสร้างพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) ให้ ครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน อย่างยั่งยืน


 
8 กันยายน 2566 : AIS จับมือโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ขยายผลการเรียนรู้ทักษะดิจิทัล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์  ยกระดับการศึกษายุคดิจิทัลในการสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ ส่งต่อความรู้ให้แก่ครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน ตั้งเป้าสร้างพลเมืองดิจิทัลพร้อมยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัล (Thailand Cyber Wellness Index) ให้อยู่ในระดับที่รู้เท่าทัน มีทักษะดิจิทัล สามารถใช้งานสื่อโซเชียลและเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเหมาะสม ผ่านการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสื่อการเรียนการสอน โดยเริ่มตั้งแต่ภาคการศึกษา 2566 เป็นต้นไป


 
โดย นายอาทยา หยู่เย็น หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค – ภาคเหนือ AIS กล่าวว่า “ปัญหาภัยไซเบอร์กลายเป็นวาระที่ทั้งโลกหันมาให้ความสำคัญเพราะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับบุคคล ทั้งเรื่องการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล การล่อลวงผ่านช่องทางออนไลน์ และการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ไปจนถึงระดับประเทศหรือองค์กรในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่เชื่อมโยงกับเรื่องของ เศรษฐกิจดิจิทัล ระบบสารสนเทศ ที่ต้องมีการรับมืออย่างจริงจัง และ จากผลการศึกษาล่าสุดของดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index พบว่า ภาพรวมของคนไทยมีสุขภาวะทางดิจิทัล อยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีถึง 44.04% ที่ยังอยู่ในระดับต้องพัฒนา แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น
 
ดังนั้น AIS ในฐานะผู้นำด้านการให้บริการดิจิทัล เราเข้าใจดีว่าเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญต่อสังคมดิจิทัลทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่ผ่านมากว่า 4 ปี  AIS จึงอาสาจุดประกายสังคมเกี่ยวกับประเด็นนี้ ตั้งแต่วันที่ดิจิทัลเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อวิถีการใช้ชีวิต ผ่านโครงการ AIS อุ่นใจCYBER ทั้งในด้านการสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายและผลกระทบจากการใช้งาน การพัฒนาโซลูชันและบริการดิจิทัลเพื่อปกป้องและส่งเสริมการใช้งานอย่างปลอดภัย และการสร้างองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมความฉลาดและทักษะของพลเมืองดิจิทัล โดย AIS พร้อมด้วยพันธมิตรจะยังคงเดินหน้าทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่วันนี้เราได้ทำงานร่วมกับโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เพื่อขยายผลส่งต่อ หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เสริมทักษะการเป็น พลเมืองดิจิทัล ให้ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน เสริมสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืนร่วมกัน


 
หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราเดินหน้านำหลักสูตรการเรียนรู้ดังกล่าว ส่งต่อไปยังบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการไปแล้ว กว่า 29,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งขยายผลไปสู่ระดับมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยในครั้งนี้ จะทำให้ครู บุคลากรทางการศึกษาและ นักเรียน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์  ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยให้อยูในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไป”

โดย ภราดา ดร.ชำนาญ เหล่ารักผล ผู้อำนวยการโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย กล่าวว่า “นโยบายและแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย มีแผนยุทธศาสตร์คือ การยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาตามมาตรฐานสากล พร้อมยกระดับคุณภาพนักเรียนให้มีทักษะสำคัญคือ การมีทักษะความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) เพื่อให้มีความทันสมัยสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากผู้ไม่หวังดีและมิจฉาชีพ ซึ่งความร่วมมือกับ AIS อุ่นใจไซเบอร์ ในครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะมาช่วยส่งเสริมนโยบายด้านการศึกษาของโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยให้ยกระดับไปอีกขั้น ด้วยการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่จะถูกนำเข้าไปบูรณาการเป็นสื่อการเรียนการสอน ให้แก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมถึงบุคลากรทางการศึกษาและ ผู้ปกครอง ได้เข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ จนนำไปสู่การเสริมสร้างทักษะดิจิทัล การใช้งานสื่อดิจิทัล และเทคโนโลยีให้มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ไม่ตกเป็นเหยื่อของการใช้งานออนไลน์และมิจฉาชีพ สามารถการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย”


 
หมายเหตุ : “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์”  นำเสนอเป็น 4 Professional Skill Module หรือ  4P4ป ที่ครอบคลุมทักษะดิจิทัล ดังนี้

  1. Practice: ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
    2.Personality: แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์
  2. Protection:  เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์
  3. Participation: รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม
     
    ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย เพิ่มเติมที่ https://sustainability.ais.co.th/storage/update/report/advanc-ebook-thailand-cyber-wellness-th.pdf
     

ร่วมแสดงความคิดเห็น