5446

พายุสุริยะ เยือนโลกสุดสัปดาห์นี้ ใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี

แจ้งเตือน พายุสุริยะที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปีจะมาเยือนโลกสุดสัปดาห์นี้ แต่ไม่เป็นอันตราย ผู้สังเกตในละติจูดสูงเตรียมพบกับออโรร่า วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2024 NOAA ได้แจ้งเตือนถึงการตรวจพบพายุสุริยะที่มีความรุนแรงระดับ G4 ต่อมาได้ยกระดับพายุขึ้นเป็นระดับ G5 ซึ่งเป็นระดับความรุนแรงของพายุสุริยะที่สูงที่สุด สำหรับประเทศไทย ด้วยตำแหน่งที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรจึงทำให้ประเทศไทยของเราถูกปกป้องโดยสนามแม่เหล็กโลกเป็นอย่างดี พายุสุริยะในครั้งนี้จึงแทบไม่มีผลกระทบอย่างใด อย่างไรก็ตาม คนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบละติจูดสูงอาจจะสามารถสังเกตการณ์แสงออโรร่าได้ตลอดช่วงสุดสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม พายุสุริยะอาจจะส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อาจจะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสนามไฟฟ้า เช่น ดาวเทียมสื่อสารที่โคจรอยู่เหนือชั้นบรรยากาศของโลก และในบางครั้งอาจจะส่งผลกระทบต่อกริดจ่ายไฟฟ้าภาคพื้นโลก สำหรับประเทศที่อยู่ในละติจูดสูง เช่นพายุสุริยะ G5 ที่เกิดขึ้นในปี 2003 นั้นส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับชั่วคราวในประเทศสวีเดน และสร้างความเสียหายให้กับหม้อแปลงไฟฟ้าบางส่วนในอาฟริกาใต้ ทั้งนี้ พายุสุริยะนั้นเกิดขึ้นจากการปลดปล่อยมวลจากดวงอาทิตย์ (Coronal Mass Ejection: CME) มวลจากดวงอาทิตย์เหล่านี้เกิดขึ้นจากอนุภาคมีประจุ ซึ่งเมื่ออนุภาคมีประจุเหล่านี้เกิดการเคลื่อนที่ อาจจะส่งผลรบกวน และเบี่ยงเบนสนามแม่เหล็กของโลก เมื่อสนามแม่เหล็กของโลกเกิดการรบกวน จะทำให้อนุภาคบางส่วนสามารถเข้ามายังชั้นบรรยากาศด้านบนของโลกได้ เกิดเป็นแสงเหนือ-แสงใต้ ที่เราเรียกกันว่า “แสงออโรร่า”

NASA เผยภาพดวงอาทิตย์ กำลังอมยิ้มกรุ้มกริ่ม

ยาน Solar Dynamics Observatory บันทึกภาพรอยดำมืดขนาดใหญ่บนดวงอาทิตย์ ดูคล้ายดวงอาทิตย์ที่กำลังอมยิ้มกรุ้มกริ่ม ปลายเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา NASA เผยภาพถ่ายในช่วงคลื่น X-ray และช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลตที่เรียกว่า Extreme Ultraviolet (EUV) แสดงให้เห็นรอยดำมืดลักษณะคล้ายกับหน้ากำลังยิ้มบนดวงอาทิตย์ ซึ่งเกิดจากพลาสมาที่มีความหนาแน่นสูงและมีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณรอบๆ นักดาราศาสตร์เรียกบริเวณนี้ว่า หลุมโคโรนา (Coronal hole) หลุมโคโรนา ยังเป็นบริเวณที่ทำให้เกิดลมสุริยะความเร็วสูงกว่าปกติถึง 2 เท่า เนื่องจากมีเส้นสนามแม่เหล็กพุ่งเข้าและออกไปไกลมากๆ ส่งผลให้พลาสมาเคลื่อนที่ตามแนวเส้นสนามแม่เหล็ก และเคลื่อนตัวออกจากชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตน์ด้วยความเร็วสูง เกิดเป็นลมสุริยะที่รุนแรงพัดออกสู่อวกาศ ด้วยความเร็วสูงกว่า 800 กิโลเมตรต่อวินาที สำหรับภาพดวงอาทิตย์ยิ้มอรุ่มเจ๊าะนี้ ถ่ายโดยยาน Solar Dynamics Observatory ของ NASA ที่ถูกส่งออกสู่อวกาศเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2010 มีภารกิจคือศึกษาโครงสร้างภายใน ชั้นบรรยากาศ สนามแม่เหล็ก การปลดปล่อยพลังงานของดวงอาทิตย์ และเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของดวงอาทิตย์ ที่อาจส่งผลต่อสภาพอวกาศ (Space Weather) และดาวเทียมที่โคจรรอบโลก หลังจากภาพนี้ได้เผยแพร่ออกไป ก็มีผู้ให้ความสนใจแสดงความคิดเห็น และเปรียบเทียบดวงอาทิตย์เป็นสิ่งต่างๆมากมาย […]

4 ก.ค.65 โลกโคจรห่างดวงอาทิตย์ที่สุดในรอบปี

4 กรกฎาคม 2565 เป็นวันที่โลกโคจรอยู่ห่างดวงอาทิตย์ที่สุดในรอบปี หรือที่เรียกว่าจุด “อะฟีเลียน” (Aphelion) จุดที่โลกเราอยู่ห่างดวงอาทิตย์ที่สุดในรอบปี ระยะทางประมาณ 152,098,455 กิโลเมตร ในเวลา 14:10 น. ตามเวลาประเทศไทย ในหนึ่งปี โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ทำให้มี 2 จุดบนวงโคจร คือจุดที่โลกจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด เรียกว่า “เพอริฮีเลียน” (Perihelion) ในเดือนมกราคม และจุดที่ไกลดวงอาทิตย์ที่สุด เรียกว่า “อะฟีเลียน” (Aphelion) ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งตรงกับวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ ตำแหน่งของโลกที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากที่สุดไม่ส่งผลต่ออุณหภูมิบนโลกแต่อย่างใด เนื่องจากฤดูกาลของโลกไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะห่างจากดวงอาทิตย์ แต่ขึ้นอยู่กับความเอียงของแกนโลกนั่นเอง