รู้หรือไม่ “วิหารไม้สักวัดพันเตา” มาจากคุ้มเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่

ความโดดเด่นของวัดพันเตาที่สามารถดึงดูดให้ผู้คน หรือแม้กระทั่งนักท่องเที่ยวจากที่ต่าง ๆ เดินทางมาที่วัดนี้ก็คือ วิหารหลวงที่สร้างจากไม้สักทองทั้งหลัง แกะสลักลวดลายวิจิตรบรรจงที่ว่ากันว่าเป็นวิหารที่สร้างจากหอคำหรือคุ้มเจ้าหลวง ที่เหลืออยู่อย่างสมบูรณ์เพียงหลังเดียว และสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในล้านนา ในอดีตวิหารวัดพันเตาหลังนี้เคยเป็น “หอคำ” ที่ประทับของเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 5 (พ.ศ.2390 – 2397) อยู่ที่พระตำหนักเวียงแก้ว ปัจจุบันคือบริเวณเยื้องด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือศาลากลางหลังเก่า ไปจนถึงวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่
ตามตำนานมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับหอคำหลังนี้ว่า พระยาอุปราชมหาวงศ์ ได้สร้างขึ้นถวายเป็นพุทธบูชาเมื่อจุลศักราช 1209 ซึ่งตรงกับ พ.ศ.2390 เนื่องจากท่านได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์และตำแหน่งหน้าที่ จากพระยาอุปราชขึ้นเป็นพระยาเชียงใหม่ ท่านได้สร้างหอคำขึ้นไว้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป อันเป็นปูชนียวัตถุล้ำค่าภายในที่อยู่ของท่าน พระยาอุปราชมหาวงศ์ได้มีการเฉลิมฉลองหลังจากที่สร้างหอคำแล้วในการสร้างหอคำหลังนี้ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ใช้ช่างพื้นเมืองและช่างพม่าผสมกัน ต่อมาพระยาเชียงใหม่มหาวงศ์ ได้รับพระราชทานเลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นเจ้ามีพระนามในสุพรรณบัฏ เป็นพระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดินทร์นพีสิทรมหานคราธิษฐาน เมื่อปี พ.ศ.2396 หลังจากที่ได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์ไม่กี่เดือน พระองค์ก็ถึงแก่พิราลัย
เมื่อพระเจ้ามโหตรประเทศฯถึงแก่พิราลัยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงแต่งตั้งให้นายสุริยวงศ์ บุตรของพระเจ้าบรมราชาธิบดี (กาวิละ) ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 ชื่อว่าพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่มาได้ 16 ปีเศษก็ถึงแก่พิราลัย
เมื่อปี พ.ศ.2413 เจ้าอุปราชอินทนนท์ รักษาการในตำแหน่งเจ้าหลวงเชียงใหม่มาร่วม 3 ปี จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าอินทวิชยานนท์พหลเทพภักดีฯ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 เมื่อพ.ศ.2416
พ.ศ.2419 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ทรงมีพระดำริว่า หอคำของพระเจ้ามโหตรประเทศฯนั้น สมควรจะอยู่ในวัดมากกว่าอยู่ในวัง จึงทรงให้ช่างช่วยกันรื้อหอคำแล้วย้ายมาปลูกสร้างขึ้นใหม่ที่วัดพันเตา เมื่อวันเสาร์เดือน 10 ขึ้น 8 ค่ำ เพราะในขณะนั้นพระเจ้าอินทวิชยานนท์กำลังทรงปฏิสังขรณ์วัดหอธรรม วัดเจดีย์หลวงและวัดสุขมิ้น การก่อสร้างวิหารของพระอารามทั้งสามแห่งกับหอคำของวัดพันเตา จึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2429 โดยมีการเฉลิมฉลองงานปอยหลวงอย่างเอิกเกริกยิ่งใหญ่และถือเป็นงานปอยหลวงที่สนุกสนานที่สุดครั้งหนึ่งของนครเชียงใหม่ และหากจะนับรวมอายุของหอคำที่ย้ายมาสร้างใหม่ที่วัดพันเตาแล้วประมาณได้ 143 ปี (พ.ศ.2419 – 2562) หอคำวิหารวัดพันเตา จึงมิใช่เป็นเพียงวิหารไม้เก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และกาลเวลาเท่านั้น หากแต่ยังมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่คงเอกลักษณ์ของล้านนาไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น