คณะพยาบาล มช. พร้อมแกนนำสำคัญ ขับเคลื่อนไทยก้าวสู่จุดหมายปลายทาง การท่องเที่ยวด้านกีฬาและสปาของโลก

จากการที่รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก เพราะแนวโน้มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก และมีทิศทางเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ประเทศไทยมีปัจจัยหลักที่ได้รับการยอมรับ ได้แก่ ราคาเหมาะสม บริการมีคุณภาพ มาตรฐานสากล บุคลากรเชี่ยวชาญ เทคโนโลยีทันสมัย อัธยาศัยไมตรีดี และมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม สามารถดึงดูดรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างดีเยี่ยม

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการ ภาระกิจการจัดทำแผนงบประมาณ สกสว. และ ผศ.อนพัทย์ หนองคู ผู้ประสานงานแผนงาน Spearhead กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สกสว. เปิดเผยว่าโครงการวิจัยด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านกีฬาและสปา ที่เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย จากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นหน่วยบริหารจัดการและส่งมอบผลลัพธ์ ภายใต้แผนงาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ กลุ่มการบริการมูลค่าสูง (การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ) ในปีงบประมาณ 2562 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำแผนงานการบริหารจัดการ การเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุก ให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ

โดยมี ศ.ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัยการบริหารจัดการแผนงาน การเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุก ให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ ผนึกกำลังกับคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย 5 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ร่วมดำเนินการในครั้งนี้ ภายใต้การดูแลกำกับ และให้คำปรึกษาจากคณะกรรมการบริหารแผนงานและผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหาแนวทางการพัฒนาประเทศไทย สู่การเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวเชิงกีฬา วิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน กำหนดแนวทางการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงกีฬาศักยภาพสูงกลุ่มกอล์ฟ การท่องเที่ยวเชิงกีฬาวิ่ง จักรยาน และศิลปะมวยไทย ที่สอดคล้องกับการความต้องการของนักท่องเที่ยว

รวมทั้งเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการให้บริการสปาในพื้นที่ภาคใต้ รูปแบบการให้บริการสปาล้านนาที่มีมาตรฐานเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยสร้างนวัตกรรมที่หลากหลายจากการดำเนินการศึกษาวิจัย เพื่อขับเคลื่อนให้การท่องเทียวเชิงสุขภาพของประเทศ สู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ประกอบด้วย 5 โครงการภายใต้แผนงานได้แก่

โครงการที่ 1 การพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ในกลุ่มกิจกรรม มวยไทย ปั่นจักรยาน และวิ่ง สู่การท่องเที่ยวดิจิทัลของประเทศไทย หัวหน้าโครงการ คือ ผศ.ดร.สัจจา ไกรศรรัตน์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จากผลการดำเนินงานได้คู่มือการจัดกิจกรรมมวยไทย การจัดกิจกรรมการปั่นจักรยาน การจัดงานวิ่งเพื่อการท่องเที่ยวเชิงกีฬาในประเทศไทย (e-book) เป็นต้น

โครงการที่ 2 การจัดการโซ่อุปทานการท่องเที่ยวเชิงกอล์ฟ เพื่อยกระดับสู่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงกอล์ฟระดับโลก หัวหน้าโครงการ คือ ดร.รัชพงษ์ กลิ่นศรีสุข จากมหาวิทยาลัยมหิดล มีผลการดำเนินงานได้รูปแบบการไหล ของกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวเชิงกอล์ฟ ต้นแบบการบริหารจัดการสนามกอล์ฟไทย เป็นต้น

โครงการที่ 3 การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพ ในพื้นที่ภาคใต้สู่การเป็นผู้นำการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพในระดับสากล หัวหน้าโครงการ คือ ดร.พุทธพร อักษรไพโรจน์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มีผลการดำเนินงานได้มาตรฐานของธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพ ในพื้นที่ภาคใต้ สปาสีเขียว คลังข้อมูลและระบบบริหารสารสนเทศผลิตภัณฑ์และบริการสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้ เป็นต้น

โครงการที่ 4 การพัฒนาสปาล้านนาสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หัวหน้าโครงการคือ ศ.ดร. อารีวรรณ กลั่นกลิ่น จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผลการดำเนินงานได้มาตรฐานการบริการธุรกิจ และเกณฑ์การรับรองความเป็นสปาล้านนา ท่านวดล้านนา การนวดในคนท้องและเด็กทารก เพลงล้านนาประกอบการให้บริการ และผลิตภัณฑ์จากพืชล้านนา เป็นต้น

และโครงการที่ 5 การยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย สู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวส่งเสริมสุขภาพในระดับสากล ด้วยนวัตกรรมบริการบนรากฐานมรดกวัฒนธรรม และจิตบริการแบบไทย หัวหน้าโครงการ คือ ดร.เกษวดี พุทธภูมิพิทักษ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จากผลการดำเนินงานได้ Wellness Tourism Digital Platform ฐานข้อมูลธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านสปาและกีฬารวม ทั้งหลักสูตรฝึกอบรมด้านนวัตกรรม เป็นต้น

จากแผนงานวิจัยดังกล่าวผ่านโครงการต่าง ๆ ทั้งหมด ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ อีกทั้งมีการติดตาม ประเมินโครงการวิจัยและให้ข้อเสนอแนะ อันเป็นประโยชน์ตลอดระยะเวลาจาก นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะประธานกรรมการบริหารแผนงาน ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ในฐานะคณะกรรมการบริหารแผนงานและเป็นหน่วยบริหารจัดการและส่งมอบผลลัพธ์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ รศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ประธานผู้ทรงคุณวุฒิและคณะผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งผู้แทนจากภาครัฐและเอกชน นายกสมาคมกีฬาและสปา ชมรมและผู้ประกอบการ

โดยมีระเบียบวิธีการวิจัยที่ประกอบด้วยทั้ง การวิจัยเชิงทดลอง การวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ ผลของการวิจัยผ่านกระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์ บูรณาการ ผลลัพธ์ ผลกระทบ ผลประโยชน์ที่ได้รับ และการนำไปใช้เชิงพาณิชย์ ด้านสาธารณะ ด้านวิชาการ ผลผลิตจากทุกโครงการของแผนงานสอดคล้องกับประเด็นการวิจัย นำไปสู่การใช้ประโยชน์ ได้มาซึ่งชุดความรู้ใหม่ด้านกีฬาและสปา สามารถใช้ต่อยอดองค์ความรู้และจัดทำแผนกลยุทธ์ ด้านการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและสปา เพื่อขับเคลื่อนผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทย ให้เกิดเป็นมูลค่าในด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ผลการวิจัยสามารถใช้ได้ทั้งองค์กรของภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เกิดรายได้เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว อีกทั้งเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ อีกด้วย นอกจากนั้นการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและสปา ด้วยนวัตกรรมสู่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพนั้น มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากปัญหาการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้นักท่องเที่ยวต่างตัดสินใจชะลอการเดินทาง โดยมีการคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลาฟื้นตัวบ้าง ซึ่งนับเป็นโอกาสของประเทศไทย เพราะระบบทางสาธารณสุขมีประสิทธิภาพสูง สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ ชุมชน และสังคม สามารถพัฒนาขีดความสามารถที่มีอยู่ได้ต่อเนื่อง พร้อมที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ ให้กลับมายังประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ แผนงานการบริหารจัดการการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุก ให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ จะนำไปสู่การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สามารถเพิ่มมูลค่าของธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและสปาได้ ก่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและสปาด้วยนวัตกรรม ตลอดจนการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

ร่วมแสดงความคิดเห็น