ศธ.ถกขับเคลื่อน “ศึกษาเอกชน”

5 รมว.ศธ.ให้นโยบายในการประชุมสัมมนาขับเคลื่อนการศึกษาเอกชน : เน้นความเข้มแข็งของโรงเรียนเอกชน และการดูแลความปลอดภัยของนักเรียน

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายการส่งเสริมสนับสนุนของรัฐในการจัดการศึกษาเอกชน และแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในการประชุมสัมมนา “ขับเคลื่อนการศึกษาเอกชน ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ” โดยมีนายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ตลอดจนรองเลขาธิการ ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) รวมทั้งผู้บริหารโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ 557 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การพบปะผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้เห็นภาพรวมการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการที่จะเป็นจิ๊กซอว์ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาเพื่อเดินไปด้วยกัน และจะเห็นความก้าวหน้าของกระทรวงในการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ที่จะดำเนินการอย่างไรให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยย้ำว่าต้องการให้การศึกษาของภาคเอกชนแข็งแรง เพราะจะช่วยลดภาระของรัฐในการจัดการศึกษา

โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ฝากประเด็นสำคัญในการดูแลความปลอดภัยของนักเรียนนักศึกษาทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา เพราะช่วงที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าเสียใจกรณีไฟไหม้บ้านพักนักเรียนหญิงโรงเรียนพิทักษ์เกียรติวิทยา ของมูลนิธิพันธกิจสุขสันต์ (องค์กรสาธารณประโยชน์) อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ซึ่งต้องขอขอบคุณ สช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมากที่ได้ให้การช่วยเหลือ รวมทั้งเครือข่ายการศึกษาเอกชนที่ได้ร่วมมอบเงินช่วยเหลือครอบครัวนักเรียนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวน 350,000 บาทในวันนี้

ทั้งนี้ ได้ขอให้ สช. ติดตามดูแลคดีที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะต้องมีผู้รับผิดชอบ พร้อมทั้งย้ำเตือนให้ทุกหน่วยงานอย่าประมาท แม้จะมีมาตรการต่างๆ ในการป้องกันดูแลไว้อยู่แล้วก็ตาม แต่จำเป็นต้องย้ำเตือนและมีแผนการซักซ้อมความปลอดภัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารสูงๆ ที่จะต้องมีเครื่องมือดับเพลิง ประตูและบันไดหนีไฟ นอกจากเรื่องอัคคีภัยแล้ว ยังมีภัยธรรม

แม้แต่เรื่องที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ คือ การขายอาหารแก่เด็กนักเรียนภายนอกโรงเรียน ซึ่งควรเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อเด็ก แต่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ปกครอง จึงจะมอบให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ได้ลงไปสุ่มตรวจ อย่าปล่อยปละละเลย เพราะอาหารที่ไม่ได้มาตรฐานจะเกิดผลระยะยาวต่อเด็ก โรงเรียนจะอ้างว่าอยู่นอกเขตโรงเรียนไม่ได้ ต้องช่วยกันดูแล

นอกจากนี้ ควรจะต้องมีมาตรการในการป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ โดยเฉพาะรถยนต์รับส่งนักเรียน ที่จะต้องตรวจสอบให้ผ่านเกณฑ์ต่างๆ (อาทิ พระราชบัญญัติการจราจรทางบก ระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้ใช้รถในการรับจ้างรับส่งนักเรียน หรือระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน เป็นต้น)

6ดังนั้น ทุกหน่วยงานต้องให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลความปลอดภัยกับเด็กนักเรียน หากจำเป็นต้องดำเนินการจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นก็ไม่ควรเสียดายเงิน หรืออาจจะต้องหาผู้เชี่ยวชาญ มืออาชีพในการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเข้ามาช่วยตามแผนการซักซ้อมความปลอดภัยในสถานศึกษาเป็นระยะๆ ด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน จึงต้องช่วยกันดูความสุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน

โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องเงินอุดหนุนรายหัวเด็กอนุบาลในโรงเรียนเอกชนด้วยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2559-2560 ได้ตั้งงบประมาณไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ.2552 ส่วนปีงบประมาณต่อๆ ไป อาจจะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเพิ่มเติม ส่วนประเด็นระยะเวลาในเปิดสอบบรรจุครูผู้ช่วยนั้น ขอให้ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนเสนอแผนงานและห้วงเวลาที่เหมาะสมในการเปิดรับสมัครสอบ เพื่อจะให้ กศจ. รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้พิจารณาดำเนินการไม่ให้เกิดผลกระทบกับโรงเรียนเอกชนในช่วงเปิดภาคเรียน

จากนั้น รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบให้ พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเสนอแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้กล่าวถึง 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ เป้าหมายการปฏิรูปการศึกษา ขณะนี้การศึกษาไทยอยู่ตรงไหน และขณะนี้กำลังดำเนินการอะไรและจะทำอะไรต่อไป เป็นต้น

……….กระทรวงศึกษาธิการ / ข้อมูล……

ร่วมแสดงความคิดเห็น