บทความพิเศษ “เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ สำหรับฟาร์มปศุสัตว์ขนาดเล็ก “สร้างพลังงาน ลดต้นทุน ลดโลกร้อน

B-8.jpg
ฟาร์มปศุสัตว์ขนาดเล็ก คือ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่มีจำนวนการเลี้ยงไม่สูงมาก ถ้าเป็นสุกร ก็ไม่เกิน 500 ตัว ไก่ไข่ ไม่เกิน 10,000 ตัว หรือ วัวนมและวัวเนื้อ ไม่เกิน 100 ตัว ซึ่งของเสียจากฟาร์มเหล่านี้ มีศักยภาพที่จะผลิตก๊าซชีวภาพได้ในปริมาณสูงสุดถึงวันละ 51 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอที่จะนำไปใช้กับเครื่องหมุนพัดลมโรงเรือน ทดแทนการใช้น้ำมันหรือกระแสไฟฟ้า หรือนำไปใช้กับเครื่องสูบน้ำ และนำไปใช้กับครัวเรือน ซึ่งบางฟาร์มสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานไปได้ถึงร้อยละ 90 และยังลดปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้แก่ ปัญหาน้ำเสีย กลิ่นเน่าเหม็น และแมลงวัน นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการขายปุ๋ยชีวภาพ ที่เป็นผลผลิตจากการนำกากตะกอนส่วนที่เหลือจากการหมักก๊าซชีวภาพและน้ำที่ผ่านการหมักมาทำเป็นปุ๋ยอีกด้วย

สำหรับเทคโนโลยีที่ใช้ในโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดเล็ก โดยการส่งเสริมสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้วิจัยและคิดค้นออกแบบได้แก่ เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพระบบ CD-Junior (Channel Digester-Junior) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการหมักย่อยสลายสารอินทรีย์ที่มีอยู่ในน้ำเสีย โดยอาศัยกลุ่มของจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ใช้อากาศทำหน้าที่หมักและย่อยสลายสารอินทรีย์ให้เปลี่ยนรูปไปเป็นก๊าซชีวภาพมาใช้กับฟาร์มขนาดเล็ก เพื่อบำบัดน้ำเสียภายในฟาร์ม สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และมีผลพลอยได้คือก๊าซชีวภาพสำหรับใช้ทดแทนพลังงาน ซึ่งสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับฟาร์มเป็นอย่างมาก

หากท่านสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องระบบก๊าซชีวภาพ สถาบันพลังงาน มช. ยินดีให้คำปรึกษา โทรศัพท์ 0-5394-2007 ต่อ 310 หรือ 311 โทรสาร 0-5390-3763 ในวันและเวลาราชการ

ร่วมแสดงความคิดเห็น