ข่วงเกษตร การดูแลกล้วยไม้ในฤดูฝน (3)

Exif_JPEG_422
Exif_JPEG_422

จากตอนที่แล้ว เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน กล้วยไม้ที่ผ่านการออกดอกและพักตัวในฤดูร้อนมาแล้ว จะเริ่มฟื้นตัว เจริญเติบโตแทงยอดใหม่ ซึ่งในช่วงฤดูฝนนี้ดูเหมือนว่ากล้วยไม้จะมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วและแข็งแรงดี แต่เมื่อมองให้ดี จะมีปัญหาอุปสรรคมากมายเกี่ยวกับโรคพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน่าอันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่เปียกชื้น เพื่อให้กล้วยไม้มีสภาพที่สมบรูณ์แข็งแรงสามารผ่านฤดูฝนไปได้ ซึ่งสิ่งที่ต้องระมัดระวังมีดังนี้ การให้น้ำ และการให้ปุ๋ย ได้กล่าวไปแล้วในตอนที่ผ่านมา ส่วนการควบคุมป้องกันโรค ในฤดูฝนกล้วยไม้ที่เปียกเป็นระยะเวลานานๆโดยไม่มีโอกาสแห้งตลอดจนสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวและระบายอากาศไม่ดีพอจะส่งผลทำให้โรคพืชระบาดได้ง่ายและมีมากขึ้นและหากยังมีการให้ปุ๋ยมากโดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจนจะยิ่งเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากขึ้น ซึ่งสามารถควบคุมป้องกันได้โดยการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชและควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยให้เหมาะสม สำหรับการใช้สารเคมีนิยมใช้สารเคมีป้องกันเชื้อรา เช่น แคปแทน คาร์เบนดาซิม แมนโคเซป หรือเบนโนมิล เป็นต้น ซึ่งโดยปกติทั่วไปจะฉีดพ่นทุกๆ 7 – 10 วัน แต่ในฤดูฝนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากจะต้องพ่นให้ถี่ขึ้นประมาณทุกๆ 5 – 7 วัน และเน้นการให้สารเคมีที่ควบคุมเฉพาะโรคให้มากขึ้น เช่นการป้องกันโรคเน่า นิยมใช้ เมทาแลกซิล หรือฟอสฟอรัส แอซิด หากพบราเม็ดผักกาดให้ใช้ควินโตซิน คาร์บอกซิน หรือโรคยอดเน่าใช้ปูนแดงละลายน้ำแล้วนำไปหยอดที่ยอด ส่วนการฉีดพ่นสารเคมีควรฉีดพ่นในเวลาที่อากาศเปิดและไม่มีแสงแดดจัดเพื่อให้สารเคมีเกาะติดกับกล้วยไม้ให้ยาวนานมากที่สุด จึงควรใส่สารจับใบผสมลงในน้ำยาที่ใช้ฉีดพ่นด้วย ตลอดจนการสลับการใช้สารเคมีที่ป้องกันเชื้อราสลับกับสารเคมีป้องกันโรคเน่า หากมีตะไคร่น้ำก็สามารถใช้สารเคมีกำจัดได้ เช่นไทแรม เป็นต้น
นอกจากนั้นหากพบกล้วยไม้ที่เป็นโรคควรตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคทิ้งหรือแยกออกโดยเร็ว โดยเฉพาะโรคเน่าต่างๆ เพราะจะทำให้ลุกลามติดต่อกันได้เร็วมากโรคเน่าเละ สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas gladioli เป็นโรคที่พบเห็นบ่อยที่สุดเกิดจากการให้น้ำ ให้ปุ๋ยมากเกินไป ทำให้ต้นฟาแลนอปซีสที่ปลูกเลี้ยงมีสภาพอวบน้ำ ต้นไม่แข็งแรง เมื่อเจอกับสภาพอากาศร้อนจัดการถ่ายเทอากาศภายในโรงเรือนไม่ดีพอ หรือโรงเรือนที่ไม่มีหลังคากันฝน แรงกระทบกระแทกของน้ำฝนก่อให้เกิดบาทแผล แล้วเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่แล้วในอากาศจึงฉวยโอกาสเข้าผสมโรง ลุกลามอย่างรวดเร็วไปยังต้นอื่น (โปรดติดตามตอนต่อไป)

นายใจศิลป์ ก้อนใจ
นักวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยสาธิต
และฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ
คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น