“บุก” ปลูกง่ายรายได้ดี เป็นทั้งอาหารและยา

p-111

เกษตรวันนี้เรามาเรียนรู้และรู้จักกับบุก ที่ถือเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ปลูกง่าย เป็นง่าย แต่สร้างรายได้ให้กับเราได้ดี ถึงหัวบุกจะมีรูปร่างไม่สวย แต่ทางคุณค่าและประโยชน์นั้นมีมาก ยังเป็นที่ต้องการของทางตลาดอีกด้วย บุก เป็นพืชหัวประเภทล้มลุก หัวใต้ดิน ส่วนหัวใช้เป็นอาหารจำพวกแป้ง ต้นอ่อน ช่อดอก เป็นอาหารจำพวกผัก รวมถึงการทำเป็นสมุนไพร บุกในบ้านเรามีหลากหลายสายพันธุ์ สามารถแยกออกตามการใช้ประโยชน์แบ่งออกเป็น บุกเพื่ออุตสาหกรรม เพื่อผลิตผงวุ้นบุก เป็นวุ้นที่มีสารกลูโคแมนแนน ได้แก่ บุกเนื้อทราย บุกเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง ได้แก่ เท้ายายหม่อม บุกสดเพื่อทำอาหารแป้ง ได้แก่ บุกโคราช บุกด่าง บุกใช้ต้นอ่อนเป็นอาหาร ได้แก่ บุกอยุธยา บุกคางคกเขียว คางคกขาว

บุกที่ใช้ต้นอ่อนและช่อดอกเป็นอาหาร ได้แก่ บุกเตียง บุกลอกกาบ บุกสายน้ำผึ้งการปลูกบุกเพื่อการบริโภค บุกขึ้นได้ดีในดินร่วนเหนียวหรือร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ควรปลูกในที่ร่มรำไรจะได้ผลดีกว่า การให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้การเจริญเติบโตของหัวบุก จะดีขึ้นมากกว่าบุกที่อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว พันธุ์ที่เหมาะสมปลูกในครัวเรือน ได้แก่ บุกโคราชหรือบุกด่าง เป็นพันธุ์ที่ปลูกง่าย หัวมีขนาดใหญ่ ก้านใบมีความคันน้อยหรือไม่คันเลย

p-114

เมื่อปลูกได้ 2 ปี ก็สามารถขุดเอาหัวมาทำอาหารได้ อาหารจากบุก เช่น นึ่งหรือต้มรับประทานคล้ายเผือก แกงบวด ผสมทำขนมข้าวเกรียบ ต้นอ่อนเมื่อลอกเปลือกออกนำไปแกงหรือกินเป็นผักสด ปกติแล้วการปลูกบุกจะนิยมบริโภคหัวบุกมากกว่า หากนำส่วนอื่น ๆ ไปบริโภคแล้ว จะทำให้หัวบุกเติบโตช้า การขยายพันธุ์บุกสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การแยกหน่อจากหัวเดิม ใช้เหง้า ใช้หัวบนใบ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

บุกที่นิยมปลูกเป็นการค้าและอุตสาหกรรมในขณะนี้ คือบุกไข่หรือบุกเนื้อทราย ที่เรียกว่าบุกไข่เพราะมีลักษณะของไข่เกิดอยู่บนใบ ใช้ส่วนนี้ขยายพันธุ์ เนื้อของหัวมีหลายสี เช่น เหลือง ขาวอมเหลือง ชมพู ขาวอมชมพู ขึ้นได้ดีในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-800 เมตร พบอยู่ในเขตป่าธรรมชาติแนวเขตชายแดนด้านตะวันตก ตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก กาญจนบุรี ระนอง จนถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช บุกไข่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีน้ำท่วมขัง ไม่ชอบแดดจัด จึงควรเลือกพื้นที่ปลูกในสภาพมีร่มเงารำไร สามารถปลูกแซมตามป่าธรรมชาติ หรือปลูกแซมในสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนไม้ผลอื่น ๆ

p-220

การปลูกบุกไข่หรือบุกเนื้อทราย ใช้ได้ทั้งหัวใต้ดินที่มีขนาดน้ำหนัก 50-400 กรัม หากหัวใต้ดินมีขนาดใหญ่อาจจะตัดแบ่งออกเป็น 4 ส่วนและต้องมีตาเจริญด้วย อีกวิธีหนึ่งคือใช้หัวบนใบหรือที่เรียกว่าไข่บุก ขนาด 2.5-20 กรัมควรปลูกตั้งแต่ต้นฤดูฝน ปลูกแซมในพืชหลักที่ให้ร่มเงาหรือป่าตามธรรมชาติ ขุดหลุมฝังให้ลึกจากผิวดิน 3-5 เซนติเมตร ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่ารองก้นหลุม พื้นที่ 1 ไร่ใช้หัวพันธุ์ 5,000 หัว ระยะปลูก 40×50 เซนติเมตร โดยวางหัวพันธุ์ให้เอียงเล็กน้อยแล้วกลบดิน คลุมด้วยเศษหญ้า เศษฟางข้าว เพื่อรักษาความชื้นในดิน การดูแลรักษา บุกที่ปลูกต้นฤดูฝนไม่มีความจำเป็นต้องให้น้ำ แต่ควรระวังอย่าให้น้ำขัง เพราะหัวบุกจะเน่าเสีย ควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก หากจะใช้ปุ๋ยเคมีควรเป็นสูตรเสมอ คือ 15-15-15 หรือ 16-16-16 เมื่อลงปลูกได้ 1.5 เดือน 3.5 เดือน และ 5 เดือน อัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่

การป้องกันกำจัดวัชพืชไม่มีความจำเป็น เพราะในสภาพปลูกใต้ร่มเงาจะมีวัชพืชเกิดขึ้นน้อย หากมีไม่มากควรใช้มือถอนและไม่ควรใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชโดยเด็ดขาด โรคแมลงศัตรูพืช เชื้อราจะทำให้หัวเน่า โรคจะระบาดได้ดีเมื่อดินเป็นกรดสูง ป้องกันโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ชุบหัวพันธุ์และรองก้นหลุม ปรับสภาพดินด้วยการใช้ปูนขาว ศัตรูจำพวกเพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย จะเข้าไปดูดน้ำเลี้ยงจะทำให้หัวบุกฝ่อ ควรใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย หนอนผีเสื้อหัวกะโหลก ทำลายต้นบุกด้วยการกัดกินใบ ควรใช้มือจับทำลาย การเก็บเกี่ยวและตลาด เก็บเกี่ยวหัวบนใบช่วงปลายเดือนสิงหาคม ส่วนหัวใต้ดินจะเก็บเกี่ยวหรือขุดช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน นับจากอายุการปลูก 2-3 ปี จะได้ผลผลิตหัวสด 3,000 – 6,000 กิโลกรัมต่อไร่ ตลาดมีความต้องการหัวบุกขนาด 0.5-1 กิโลกรัมขึ้นไป

p-221

ทำไมบุกจึงเป็นที่นิยม หัวบุกได้รับความนิยมบริโภคกันมาก เนื่องจากใช้เป็นผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนและอาหารเสริมสุขภาพ เพราะบุกมีสารวุ้นใยอาหารที่เรียกว่า “กลูโคแมนแนน” อยู่ประมาณร้อยละ 10 โดยน้ำหนักของหัวบุกสด หรือร้อยละ 50-70 ของน้ำหนักเนื้อบุกแห้ง หัวบุกสดจะแปรรูปเป็นบุกแห้งและสกัดแยกผลวุ้นกลูโคแมนแนน เพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพและอื่น ๆ หลายชนิด สารสกัดที่ได้มีลักษณะเป็นผงคล้ายเม็ดทราย สีน้ำตาลอ่อนออกขาว เมื่อละลายน้ำจะได้วุ้นเหลวที่อุณหภูมิห้องปกติ เป็นสารอาหารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ จึงไม่ให้พลังงาน ไม่ดูดซึมไปเก็บสะสมไว้ในร่างกาย ทำให้อิ่มเร็ว ช่วยลดไขมันอุดตันในเส้นเลือด สารวุ้นใยอาหารกลูโคแมนแนนจะช่วยในการดูดซึมไขมันและโคเลสเตอรอนน้อยลง

การเกาะผนังด้านในของเส้นเลือดจะลดน้อยลงด้วย ลดการเกิดโรคเบาหวาน เนื่องจากสารวุ้นใยอาหารกลูโคแมนแนนจะเข้าไปดูดซึมซับโมเลกุลของน้ำตาลกลูโคส ให้เป็นห่วงโซ่ขนาดใหญ่จนย่อยในลำไส้ไม่ได้และจะถูกขับออกไป ลดการเกิดมะเร็งลำไส้ สารวุ้นใยกลูโคแมนแนนจะช่วยยับยั้งและป้องกันแบคทีเรียและไวรัสที่ก่อให้เกิดสารพิษในลำไส้ใหญ่ ตลอดจนลดความเข้มข้นของกรด–ด่าง จากเศษอุจจาระให้เจือจางลง เท่ากับลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ลงได้มาก

p-116

ขณะนี้ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดกาญจนบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีแนวคิดในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกบุก เนื่องจากบุกเป็นพืชท้องถิ่นที่ปลูกง่ายให้ผลตอบแทนสูง เป็นการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า เป็นพืชปลูกแซมได้หลายชนิดพืช เป็นการเปลี่ยนทัศนคติลดการใช้สารเคมีเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ อีกทั้งยังมีผู้ปลูกน้อย ยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ขอขอบคุณข้อมูลของศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง กาญจนบุรี ที่ได้เรียบเรียงจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และนักวิจัยหลายท่าน ในโอกาสที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้นำเกษตรกรในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งการปลูกบุก ได้ศึกษาดูงานการปลูกบุกแบบครบวงจร เพื่อนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตน เกษตรกรท่านใดสนใจก็ไปดูงานได้หรือสอบถามทางเกษตรจังหวัดของท่านได้ในการปลูกบุก

หัวบุก
หัวบุก

ท.ลุงเกษตร

ร่วมแสดงความคิดเห็น