พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศสันป่าตอง

หากกล่าวถึงความสำคัญขององค์พระพิฆเนศ ถือได้ว่าเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งในศาสนาฮินดู พระพิฆเนศมีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อได้แก่ พระคเนศ พระพิฆเนศ พระคณปติ ตามตำนานของศาสนาฮินดูกล่าวพระพิฆเนศเป็นโอรสของพระศิวะกับนางปารวดี (พระอุมา) ที่มีลักษณะร่างกายเป็นมนุษย์มีเศียรเป็นช้าง

ชื่อของพระคเนศ ปรากฏเป็นครั้งแรกของยุคปราณะอินเดีย ในฐานะเทพเจ้าแห่งอุปสรรค ผู้บันดาลให้เกิดอุปสรรคและบันดาลให้เกิดความสำเร็จ เนื่องจากพระคเนศเป็นที่นับถือมาทุกยุคทุกสมัย จึงปรากฏรูปเคารพในรูปแบบของงานประติมากรรมอยู่มากมาย ทั้งที่แกะจากศิลา โลหะสำริด ทองเหลือง ปูนปั้น ดินเผา ไม้และงาช้าง อันเป็นเครื่องยืนยันถึงการนับถือพระคเนศในดินแดนต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันได้แก่อาณาจักรฟูนัน อาณาจักรกัมพูชา อาณาจักรจัมปาในเวียดนาม อาณาจักรพม่า ชวา เรื่อยมาจนถึงอาณาจักรทวารวดีในไทยและอาณาจักรศรีวิชัยในคาบสมุทรสุมาตรา

ในประเทศไทยมีการนับถือพระคเนศ หรือ พระพิฆเนศในฐานะเทพสำคัญด้านต่างๆ จึงมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องได้แก่ พระราชพิธีในราชสำนักไทยที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีตรียัมพวายตรีปวาย และพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือก

ในงานด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์และการช่างไทยก็มีการนับถือพระพิฆเนศ โดยจะบูชาในพิธีไหว้ครูก่อนการแสดงหรือการเรียนศาสตร์นั้นๆ ด้วยเชื่อว่าท่านเป็นเทพเจ้าแห่งอุปสรรคบูชาท่านเพื่อป้องกันมิให้เกิดอุปสรรคอันจะนำไปสู่ความสำเร็จ ทั้งยังบูชาในฐานะที่ทรงมีสติปัญญาหลักแหลม เพื่อผลแห่งปัญญาตนในการเรียน หน่วยงานและสถานศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงมักใช้รูปพระพิฆเนศเป็นตราประจำหน่วยงาน รวมถึงการสร้างรูปพระพิฆเนศประดิษฐานเป็นสัญลักษณ์และเพื่อการบูชาอย่างมากมาย

ลักษณะที่สำคัญของพระพิฆเนศในหมู่เทพเจ้าของศาสนาพรหมณ์ พระพิฆเนศนับเป็นเทพที่มีลักษณะโดดเด่นที่สุด องค์เป็นมนุษย์เศียรเป็นช้าง ทรงหนูเป็นพาหนะ ในการทำรูปเคารพนิยมทำเป็นรูปบุรุษร่างอ้วนพุงพลุ้ยในท่านั่งบนหลังหนูหรือยืนข้างหนู มี 1-16 กรถืออาวุธต่างๆ แตกต่างกันตามปางหรือเนื้อหาของประวัติ ตอนที่ผู้สร้างเลือกเพื่อบูชาแต่ที่ได้รับความนิยมคือ 4 กร ถือบ่วงบาศ ตะขอเกี่ยวช้าง ขนมโททกะและแสดงปางประทานพร รูปพระพิฆเนศตั้งแต่สมัยแรกสร้างในประเทศอินเดียมาจนถึงปัจจุบันที่แพร่หลายในประเทศไทยนั้น มักแสดงท่าทางแตกต่างกัน อิริยาบถเหล่านี้สามารถวิเคราะห์ตีความได้ว่าเป็นพระพิฆเนศในปางใดทั้งยังแสดงถึงสกุลช่างศิลปกรรมที่หลากหลายตลอดจนพัฒนาการของคติความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพระพิฆเนศ

หลายคนเคยรู้จักและบูชาพระพิฆเนศ แต่อาจไม่เคยรู้ว่าในเชียงใหม่บ้านเรามีพิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ ที่รวบรวมงานประติมากรรมรูปเคารพองค์พระพิฆเนศจากประเทศต่างๆ มากกว่า 1,000 ชิ้น ให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่เคารพนับถือในองค์พระพิฆเนศได้กราบไหว้บูชา พิพิธภัณฑ์ที่ว่านี้คือ พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศของ ปัณฑร ทีรคานนท์ ตั้งอยู่ที่ตำบลยางคราม อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศเปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าชมเป็นประจำทุกวันไม่มีวันหยุด

เมื่อเข้าไปในบริเวณพิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ ซึ่งตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมแบบบาหลี บนเนื้อที่ก่า 5 ไร่ ภายในประกอบด้วยศาสนาสถานหลายแห่งได้แก่ หอเวทวิทยาคม เป็นอาคารทรงไทยโบราณจำลองแบบมาจากบ้านพักของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญขององค์พระพิฆเนศ ถัดเข้าไปเป็นอาคารบูชา ใช้เป็นห้องบูชาและจัดกิจกรรมประกอบพิธีบูชาพระพิฆเนศ ภายในแสดงเทวรูปพระพิฆเนศประทับพร้อมครอบครัว แกะสลักด้วยไม้ทั้งหมดซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามีเพียงแห่งเดียวในโลก

นอกจากนั้นภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีอาคารจัดแสดงรูปเคารพขององค์พระพิฆเนศ ซึ่งรวบรวมมาจากสถานที่ต่างๆ ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากเดินย้อนกลับออกมาด้านหน้าจะพบกับหอเทวลัยพระพิฆเนศ เทวลัยหลังนี้ สร้างขึ้นจากความศรัทธาของเจ้าของพิพิธภัณฑ์ที่มีต่อองค์พระพิฆเนศ อิฐทุกก้อนผ่านการสวดและเขียนอักขระก่อนนำไปประกอบเป็นเทวลัย ภายในเทวลัยได้จำลอง คณปติโลก อันได้แก่โลกที่เป็นที่ประทับของพระพิฆเนศ ซึ่งกล่าวไว้ในคัมภีร์ว่าพระองค์ทรงประทับอยู่บนเกาะกลางมหาสมุทร ที่เต็มไปด้วยนํ้าอ้อย ในเวลาที่มีลมพัดจะเกิดคลื่นซัดเอาเพชรพลอยและอัญมณีเข้าหาฝั่ง พระพิฆเนศทรงประทับยืนอยู่บนดอกบัว ซึ่งกลีบดอกจะเขียนอักษร “โอม” ภายใต้ต้นกัลปพฤกษ์

ภายในเทวลัยหลังนี้ได้ถ่ายทอดความเชื่อดังกล่าวโดยพื้นของเทวลัยได้ใช้แผ่นโลหะดุนลายเป็นรูปดอกบัวแทนนํ้าหรือมหาสมุทรนํ้าอ้อย ฐานสี่เหลี่ยมกลางเทวลัยแทนเกาะอันเป็นที่ประทับขององค์พระพิฆเนศ

สำหรับผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ตั้งอยู่บนถนนสายเชียงใหม่-จอมทอง เมื่อไปถึงกม.ที่ 35 จะมีซอยทางด้านขวามือเข้าไปอีกประมาณ 5 กม. โทรศัทพ์ 053-269101 หรือ 089-855-5852

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น