นาซาแถลงข่าว การค้นพบดาวเคราะห์ ขนาดใกล้เคียงโลก ที่อาจมีสิ่งมีชีวิตถึงเจ็ดดวง โคจรรอบดาวแคระแดง

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2560 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา แถลงข่าวการค้นพบดาวเคราะห์หินถึงเจ็ดดวงที่ใกล้เคียงกับโลก โคจรรอบดาวแคระแดงแทรพพิสต์-วัน (TRAPPIST-1) ซึ่งห่างจากโลก 39 ปีแสง อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ

นายมติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ กล่าวว่า ข่าวการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (exoplanet) มีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากย้อนกลับไปจะพบว่า มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรก เมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเรามีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ยืนยันแล้ว 3,449 ดวง และรอการยืนยันอีกกว่า 4,696 ดวง ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ค้นพบ ส่วนมากจัดเป็นประเภทดาวยักษ์แก๊ส ในจำนวนนี้เป็นดาวเคราะห์หินใกล้เคียงกับโลกมากกว่า 348 ดวง การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเหล่านี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มเชื่อว่า สิ่งมีชีวิตอาจจะไม่ใช่สิ่งที่หายาก และมีเพียงแค่บนโลกของเราอีกต่อไป การค้นพบระบบอื่นและโลกอื่นที่มีดาวเคราะห์หินโคจรอยู่ ก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งที่อาจจะมีชีวิตอาศัยอยู่ และในไม่ช้าเราอาจจะค้นพบดาวเคราะห์หินที่มีหลักฐานของสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

การค้นพบครั้งนี้ นาซาเปิดเผยว่า นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์หิน ที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลกถึง 7 ดวง โคจรอยู่ในระบบดาวฤกษ์ดวงเดียว ซึ่งยังพบอีกว่า ดาวเคราะห์ 3 ดวงในดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงนี้อยู่ในช่วงที่เรียกว่า “habitable zone” หรือโซนที่เอื้อต่อการมีชีวิต นิยามโดยระยะห่างที่เหมาะสมจากดาวฤกษ์ที่พอจะมีน้ำอยู่ในสถานะของเหลว ไม่ใกล้จนเกินไปจนรังสีจากดาวฤกษ์แผดเผา และระเหยน้ำในมหาสมุทรออกไปหมด แต่ก็ยังไม่ไกลเกินไปจนดาวเคราะห์กลายเป็นดาวน้ำแข็งที่ไร้ซึ่งชีวิต อย่างไรก็ตามเรายังไม่มีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับองค์ประกอบของดาวเคราะห์เหล่านี้ ที่จะบอกได้ว่า มีน้ำหรือชีวิตบนดาวเคราะห์เหล่านั้น

การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะในปัจจุบัน ส่วนมากใช้วิธีตรวจวัดการหรี่ลงของแสง เมื่อดาวเคราะห์มีการเคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวฤกษ์ (Transit) เมื่อเวลาผ่านไปและดาวเคราะห์เหล่านี้ ได้โคจรมาบังแสงของดาวฤกษ์อีกครั้งหนึ่ง จึงสามารถยืนยันการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้ พร้อมทั้งสามารถวัดคาบการโคจร ซึ่งบอกถึงระยะห่างจากดาวฤกษ์ได้อีกด้วย นอกจากนี้เราก็ยังสามารถทราบขนาดของดาวเคราะห์ได้ จากสัดส่วนของแสงของดาวฤกษ์ที่หรี่ลงระหว่างเกิดการบังกัน

สำหรับดาวฤกษ์ในระบบแทรพพิสต์-วัน (TRAPPIST-1) จัดเป็นดาวประเภทดาวแคระแดง (Red Dwarf) ดาวแคระแดงเป็นดาวฤกษ์มวลน้อย มีอุณหภูมิพื้นผิวที่ต่ำมาก และมีความสว่างน้อย อย่างไรก็ตาม ดาวดวงนี้จะมีความสว่างในช่วงอินฟราเรดมากกว่ามาก จึงเหมาะกับการใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ ที่ทำงานในช่วงคลื่นอินฟราเรดในการสังเกต ถึงแม้ว่าดาวแคระแดงจะมีขนาดเล็ก แต่ด้วยอัตราการเผาผลาญเชื้อเพลิงที่ต่ำแล้ว ทำให้ดาวแคระแดงเหล่านี้มีอายุขัยที่นานมาก และดาวแคระแดงเหล่านี้จะยังคงลุกสว่างอยู่ต่อไปอีกหลายหมื่นล้านปี หลังจากที่ดวงอาทิตย์ของเราดับไปแล้ว ด้วยอุณหภูมิที่ต่ำของแทรพพิสต์-วัน (TRAPPIST-1) ทำให้ช่วงที่เอื้อต่อการมีชีวิต (habitable zone) อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ดวงนี้เป็นอย่างมาก

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงที่ค้นพบนี้มีระยะวงโคจรที่ใกล้กับดาวแทรพพิสต์-วัน (TRAPPIST-1) มากกว่าวงโคจรของดาวพุธรอบๆ ดวงอาทิตย์ เหตุดังกล่าว ทำให้ดาวเคราะห์เหล่านี้อยู่ใกล้กันเป็นอย่างมาก หากเราไปยืนอยู่บนดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในระบบดาวดวงนี้ เราจะสามารถมองเห็นลักษณะทางภูมิศาสตร์ รวมไปถึงเมฆและสภาพลมฟ้าอากาศของดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะได้ และในบางช่วงดาวเคราะห์เหล่านี้ อาจจะมีขนาดปรากฏบนดาวเคราะห์ดวงอื่นใหญ่กว่าขนาดปรากฏของดวงจันทร์บนโลก

ด้วยระยะห่างที่ใกล้กับดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์บางดวงอาจจะอยู่ในสภาวะไทดัลล๊อค (tidal lock) หมายถึง แรงไทดัลจากดาวฤกษ์จะดึงให้ดาวเคราะห์เหล่านี้ หันด้านเดียวไปหาดาวฤกษ์เสมอ เช่นเดียวกับที่ดวงจันทร์ของโลกหันด้านเดิมมาหาโลกเสมอ ทำให้ดาวเคราะห์เหล่านี้ อาจจะมีอุณหภูมิด้านมืดและด้านสว่างที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ด้านสว่างอาจจะมีอุณหภูมิที่อุ่นเพียงพอ ที่จะมีมหาสมุทรภายใต้ดาวฤกษ์ที่ไม่เคยลับขอบฟ้า ในขณะที่ด้านมืดอาจจะเป็นโลกน้ำแข็งที่อยู่ในรัตติกาลอันไม่มีที่สิ้นสุด

อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะทางที่ไกลถึง 39 ปีแสง มนุษย์ยังไม่มีแผนที่จะเดินทางไปยังระบบดาวเคราะห์นี้ในเร็ววันนี้ หากเราสามารถเดินทางได้เร็วเท่ากับแสง เรายังต้องใช้เวลาถึง 39 ปี และหากเราพยายามจะเดินทางไประบบดาวเคราะห์นี้ด้วยความเร็วของเครื่องบินเจ็ท เราจะต้องใช้เวลาถึงกว่าสี่ล้านปี

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ดีเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะที่ผ่านมาไม่เคยค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ที่มีขนาดคล้ายโลกพร้อม ๆ กัน ถึง 7 ดวง ซึ่งค่อนข้างน่าสนใจ เพราะบ่งบอกว่ายังมีอะไรให้เราค้นพบและศึกษาอีกมาก ในอนาคตการส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศขึ้นไป เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์อินฟาเรด ที่นาซาวางแผนส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2561

มีภารกิจในการสังเกตการณ์วัตถุอันห่างไกลในเอกภพ ก็จะสามารถศึกษาบรรยากาศของดาวเคราะห์เหล่านี้ได้ และเมื่อเราทราบองค์ประกอบสำคัญ อย่างเช่น ก๊าซออกซิเจน มีเทน หรือ โมเลกุลสำคัญอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดจากสิ่งมีชีวิต จะทำให้เราทราบว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการค้นพบหรือยืนยัน ถึงแม้ตอนนี้ยังไม่มีการค้นพบ ก็ถือเป็นโอกาสดีที่นักดาราศาสตร์จะได้ค้นพบระบบสุริยะขนาดเล็กที่อยู่ไม่ไกลจากโลก และอาจทำให้เราเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ในเอกภพได้ดียิ่งขึ้น ว่ามีที่ใดบ้างที่เหมือนกับโลกของเรา

อธิบายภาพ :
001 – ภาพจำลองเมื่อยืนอยู่บนพื้นผิวของดาวแทรพพิสต์-วันเอฟ(TRAPPIST-1f) แสดงให้เห็นถึงดาวแคระแดงที่เย็นและแดงกว่าดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบที่อาจจะใหญ่ใกล้เคียงกับดวงจันทร์ของโลก (เครดิตภาพ : NASA/JPL-Caltech)
002 – ภาพจำลองดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวง (เครดิตภาพ : NASA/JPL-Caltech)
003 – กราฟแสดงการลดลงของแสงเมื่อดาวเคราะห์ทั้ง 7 โคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์แทรพพิสต์-วัน (TRAPPIST-1)
ภาพจาก : www.skyandtelescope.com/astronomy-news/dim-star-has-seven-earth-size-planets-2202201723/
004 – ภาพจำลองขนาดวงโคจรของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะทั้ง 7 ดวง เปรียบเทียบกับวงโคจรดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี และ วงโคจรของดาวพุธ
ภาพจาก : www.skyandtelescope.com/astronomy-news/dim-star-has-seven-earth-size-planets-2202201723/

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-225569 ต่อ 210 , 081-8854353 โทรสาร 053-225524

ร่วมแสดงความคิดเห็น