รับฟังประชาพิจารณ์ ตั้งกระทรวงอุดมศึกษา ครั้งแรก

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา ครั้งที่ 1 ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ, ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานคณะทำงานเตรียมความพร้อมจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา, ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนอธิการบดี ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา คณาจารย์ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมสัมมนาครั้งนี้

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า การประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาในครั้งนี้ เป็นการทำประชาพิจารณ์ครั้งแรกหลังจากที่ได้เตรียมการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการอุดมศึกษา อีกทั้งยังเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงสิ่งที่ประชาชนและประเทศชาติจะได้รับจากการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา เนื่องจากเราไม่ได้จัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนในกระทรวงศึกษาธิการเพียงอย่างเดียว

สำหรับแนวคิดการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษานั้น มีที่มาจากการที่กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันมีโครงสร้างการบริหารงานที่ใหญ่เกินไป ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการที่มีความพร้อมและสามารถแยกออกมาตั้งเป็นกระทรวงอุดมศึกษาได้ อีกทั้งวิธีคิดหรือวิธีการบริหารงานของ สกอ. ก็มีความเป็นอิสระและแตกต่างจากองค์กรหลักอื่น ๆ จึงทำให้เกิดแนวคิดการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาขึ้น โดยมีการกำหนดบทบาทของแต่ละภาคส่วน ทั้งหน่วยงานการอุดมศึกษา ฝ่ายบริหาร และข้าราชการประจำ รวมทั้งรัฐบาล ว่าจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมาความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการหรือการเข้าไปกำกับดูแลยังไม่ชัดเจน จึงเชื่อมั่นว่าเมื่อจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาแล้วบทบาทการทำงานร่วมกันจะดีขึ้น

สำหรับการจัดทำประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ ก็เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันกำหนดรายละเอียดที่จะระบุอยู่ในข้อกฎหมายต่าง ๆ โดยจะมีคณะกรรมการชุดย่อยที่คอยดูแลในแต่ละเรื่อง อาทิ ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงอุดมศึกษา พ.ศ. …., ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. …. เป็นต้น หลังจากนี้จะมีการทำประชาพิจารณ์ในส่วนภูมิภาค คือ ภาคเหนือ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่), ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) และภาคใต้ (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญในการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาคือ ความพอดี เพราะที่ผ่านมาการปฏิรูปการศึกษามักจะทำการปฏิรูปเฉพาะโครงสร้าง ซึ่งผลของการปฏิรูปไม่ได้ส่งผลถึงเด็กจริง ๆ ดังนั้นการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาในครั้งนี้ เราจะต้องไม่หมกมุ่นหรือคิดในเชิงอำนาจว่าใครจะคุมใคร แต่ต้องร่วมกันดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชน รวมทั้งต้องดึงการศึกษาออกจากการเมืองให้ได้ เพื่อให้โครงสร้างการบริหารงานของกระทรวงอุดมศึกษาตอบโจทย์ความยุติธรรมด้านการศึกษาและการแข่งขันในเวทีโลก ตลอดจนต้องหยุดสงครามของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้ได้

ทั้งนี้ ขอให้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยตั้งเป้าให้การดำเนินการทุกอย่างเสร็จสิ้นใน Roadmap ของรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น