อธิบดีกรมชลประทาน ตรวจเยี่ยมศูนย์พัฒนาห้วยฮ่องไคร้

อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานปิดโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ รุ่นที่ 1 พร้อมแจกพันธ์ุปลา กบ ไก่ และเชื้อเห็ด ให้แก่กลุ่มผู้เข้าร่วมอบรม ไว้เป็นต้นทุนในการพัฒนากิจกรรมต่อไปด้วย ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 28 เม.ย.60 นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมศูนย์พัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดําริ จ.เชียงใหม่ พร้อมเป็นประธานปิดโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่รุ่นที่ 1 ที่จัดขึ้นเพื่อสนองนโยบายของ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน โดยคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน รวมกว่า 200 ราย ในหลักการ “ระเบิดจากข้างใน” ตามหลักการทรงงานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

กล่าวคือ ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนภายในชุมชน ให้มีความพร้อมที่จะร่วมพัฒนาภายใต้ชื่อ “โครงการปฏิบัติการตามนโยบายของ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ที่มอบหมายให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดาริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการจัดฝึกอบรมให้กับกลุ่มเกษตรกร โดยหลังจากการอบรมได้แจกพันธุ์ปลา กบ ไก่ และเชื้อเห็ด ให้แก่กลุ่มผู้เข้าร่วมอบรมไว้เป็นต้นทุนในการพัฒนากิจกรรมต่อไป และคาดหวังให้เกิดผลลัพธ์ในการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ของกลุ่มเกษตรกรในอนาคต

ทั้งนี้ อธิบดีกรมชลประธานได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินโครงการ ทดสอบสาธิตการทำนาข้าวด้วยตอซังวิธีใหม่ : ปลูก 1 เก็บเกี่ยวมากกว่า 3 ซึ่งการปลูกข้าวแบบล้มตอซังนี้ เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกษตรกรเป็นผู้ค้นพบมานานแล้ว และเป็นการลดต้นทุนในการผลิตหลายอย่าง อาทิ ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าเตรียมดิน ค่าหว่าน ค่าปุ๋ย อีกทั้งระยะเวลาในการเพาะปลูกค่อนข้างสั้น มีความต้องการน้ำน้อย รวมถึงความบริสุทธิ์ทางพันธุกรรมข้าวจะยังคงอยู่ อันจะทำให้ได้ข้าวที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ คุณภาพดี และตรงความต้องการของตลาด จากนั้น อธิบดีกรมชลประธานได้ลงมือเกี่ยวข้าวในแปลงสาธิตด้วยตนเอง เพื่อเป็นแบบอย่างและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมด้วย


ในโอกาสนี้ ทางอธิบดีกรมชลประทาน ยังได้ร่วมทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวในแปลงทดลองด้วยวิธีเทคนิค SALIBU ของประเทศอินโดนีเซีย หรือการปลูกข้าวแบบวิธีใช้ตอซังเดิม ครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ กรมการข้าว และศูนย์พัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดําริ คือ การทำนาข้าวด้วยการใช้ตอซังข้าวเดิม แทนการหว่านด้วยเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วจะตัดตอซังข้าวให้เหลือ ประมาณ 5 ซม.แล้วปล่อยน้ำเข้าในนาไม่ให้ท่วมตอซังข้าว ประมาณ 20-25 วัน

ต้นข้าวรุ่นที่ 2 จะแตกหน่อขึ้นมาจากกอข้าวเดิม จึงคัดต้นข้าวที่งอกขึ้นมาใหม่ที่มีแข็งแรงออกมาปลูกในพื้นที่ใหม่ ซึ่งจะเติบโตให้ผลผลิตเช่นเดียวกับข้าวนาหว่านในครั้งแรก โดยวิธีนี้จะช่วยประหยัดต้นทุนในการซื้อเมล็ดพันธุ์ ไปได้ประมาณ ไร่ละ 1,000 บาท ปริมาณน้ำที่ใช้ในการปลูกข้าว และช่วยย่นระยะเวลาที่ใช้ในการปลูกข้าวได้มาก จากเฉลี่ย 135 วันเหลือ 102 วัน  อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาหมอกควันได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากไม่มีตอซังข้าวที่จะเผา

ร่วมแสดงความคิดเห็น