พิธีฆ่าควายเลี้ยงผี ประเพณีเลี้ยงดง

ประเพณีเลี้ยงดงในแต่ละปีจะมีชาวบ้านและผู้คนจากต่างถิ่นเดินทางมาชมพิธีอันพิสดารและแปลกประหลาดเช่นนี้อยู่เสมอ คาดว่ามีผู้คนเดินทางมาร่วมงานประเพณีเลี้ยงดงไม่ต่ำกว่าพันคน เพราะปีหนึ่งจะจัดให้มีพิธีสำคัญเช่นนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ประเพณีเลี้ยงดง หรือ ปู่แสะย่าแสะ ของชาวลัวะในเชียงใหม่ยังคงมีการสืบทอดมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน พิธีดังกล่าวเป็นความเชื่อที่ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษของชาวลัวะ ซึ่งพวกเขาถือว่าจะต้องกระทำพิธีเลี้ยงผีขึ้นทุกปี โดยจะถือเอาวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 เหนือ หรือก่อนฤดูทำนาเป็นวันประกอบพิธี พิธีนี้มีชื่อเรียกตามภาษาชาวบ้านระแวกนี้ว่า “พิธีเลี้ยงดง” ซึ่งหมายถึงการเซ่นสรวงดวงวิญญาณผีในป่า

ตามตำนานสุวรรณคำแดงกล่าวไว้ว่า ในอดีตบรรพบุรุษของชาวลัวะได้เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้มาก่อนที่จะมีการสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้น ซึ่งมีหลักฐานทางโบราณคดีปรากฏให้เห็น เช่นชุมชนเวียงโบราณสวนดอก ชุมชนดังกล่าวมีชนเผ่าลัวะเป็นผู้สร้างขึ้น เรื่องราวของชาวลัวะมีปรากฏทั่วไปในตำนานพื้นเมืองเหนือโดยเฉพาะในพุทธศตวรรษที่ 14 คือ ขุนหลวงวิรังคะ ซึ่งเป็นผู้นำคนสุดท้ายของชนเผ่าลัวะ ปัจจุบันชุมชนลัวะหลายหมู่บ้านยังให้ความเคารพนับถือ มีชุมชนเผ่าลัวะกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในดินแดนล้านนา

ตำนานพระบาทดอนกลาง กล่าวว่า ลัวะเป็นผู้อพยพมาจากเมืองบนดอยสุเทพ มาสร้างเมืองเชียงใหม่ก่อนพระยามังราย โดยมีเสาอินทขิล กุมภัณฑ์ 2 ตนที่วัดเจดีย์หลวงเป็นสัญลักษณ์แทนชาวลัวะ นอกจากนี้ยังมีตำนานอีกหลายเล่มได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของชนเผ่าลัวะรวมถึงพิธีเลี้ยงผีลัวะด้วย

เมื่อครั้งที่พระพุทธสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพ พระองค์ทรงจินตนาการว่าถ้าหากพระองค์ทรงปรินิพพานไปจากโลกนี้แล้ว บ่วงมนุษย์ที่ยังไม่รู้แจ้งในธรรมะ จะประสบเคราะห์กรรมตกอยู่ในบ่วงกิเลสทั้งหลาย พระองค์จึงทรงอยากจะปลดปล่อยเขาเหล่านั้นให้หลุดพ้นจากหายนะ จึงได้นำพระภิกษุอรหันต์พร้อมด้วยพระอินทร์มุ่งสู่ทิสเหนือ เมื่อทรงเห็นว่าบ้านเมืองโตที่มีประชาชนยังมีความหนาด้วยกิเลส ก็จะหยุดนำหลักธรรมคำสอนมาขัดเกลากิเลสให้ เมื่อประชาชนเคารพ เลื่อมใส ศรัทธา ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์แล้วก็จักประทับรอยพระบาทและจะเนรมิตพระธาตุประดิษฐานไว้ ณ ที่นั้น พระองค์เสด็จจนมาถึงเมืองบุรพนคร แล้วจึงเสด็จถึงพระธาตุดอยคำซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของดอยอ้อยช้างหรือดอยสุเทพ ที่นั่นมียักษ์อาศัยอยู่ 3 ตน ยักษ์ผู้ผัว มีนามว่า “จิคำ” ยักษ์เมียนามว่า “ตาเขียว” และลูกยักษ์ โดยยักษ์ทั้งสามยังชีพด้วยการจับมนุษย์และสัตว์กินเป็นอาหาร เมื่อยักษ์ทั้งสามเห็นพระพุทธองค์และสาวกเสด็จมาจึงคิดที่จะจับกินเป็นอาหาร พระพุทธองค์ทรงทราบในวิสัยจึงทรงแผ่เมตตาห้ามจิตที่มากด้วยกิเลสให้อ่อนลง ด้วยบุญญาธิการของพระองค์ ยักษ์ทั้งสามเกรงขามในพระบารมีจึงได้ก้มลงกราบแทบพระบาทของพระองค์ พระพุทธเจ้าทรงเอ็นดูและพระเมตตาจึงกล่าวแก่ยักษ์ทั้งสาม ปรากฏว่ายักษ์ผู้เป็นบุตรสามารถรับปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ได้เป็นอย่างดี จึงทรงเทศนาสั่งสอนให่แก่ยักษ์ทั้งสาม และปรากฏว่ายักษ์ผู้เป็นบุตรนั้นสามารถรับปฏิบัติศีลห้าได้ตลอด เว้นแต่ยักษ์ผู้ผัวและยักษ์ผู้เมียเท่านั้น โดยยังร้องขอกินเนื้อมนุษย์ปีละ 2 คน พระพุทธองค์ทรงไม่อนุญาต ยักษ์ทั้งสองจึงต่อรองขอกินเนื้อสัตว์แทน

ตั้งแต่นั้นมาจึงมีพิธีฆ่าโคเผือกเขาเพียงหู ให้ปู่แสะ(ยักษ์จิคำ) และพิธีฆ่าโคดำเขาเพียงหูให้ย่าแสะ(ยักษ์ตาเขียว) โดยกระทำพิธีคนละแห่ง ต่อมาได้รวมพิธีกรรมมาไว้ในสถานที่เดียวกัน ณ บริเวณป่าเชิงวัดพระธาตุดอยคำทางทิศตะวันออก พิธีฆ่าควายเลี้ยงผี หรือ พิธีเลี้ยงดง ของชาวลัวะที่ทำขึ้นในปัจจุบันจะกำหนดเอาวันเพ็ญขึ้น 14 ค่ำเดือน 9 เหนือเป็นวันประกอบพิธี ถ้าในปีใดตรงกับวันพุธก็จะเลื่อนไปทำในวันรุ่งขึ้น ก่อนหน้าที่จะมีพิธีหนึ่งวันชาวบ้านจะมาช่วยกันทำความสะอาดปัดกวาดแผ้วถางบริเวณลานพิธี โดยจะสร้างร้านบวงสรวงขนาดกว้าง 1 ศอก สูง 1 ศอกเพื่อวางเครื่องบวงสรวงวิญญาณต่างๆจำนวน 12 ร้าน ในตอนเย็นของวันขึ้น 13 ค่ำ ผู้ทำหน้าที่เชิญจะนำพานข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนมากล่าวเชิญดวงวิญญาณปู่แสะย่าแสะให้มาเข้าทรงในวันรุ่งขึ้น

เมื่อถึงวันทำพิธีตอนเช้ามืดจะมีการฆ่าควายดำ ซึ่งเป็นควายรุ่นมีเขาเพียงหู ชาวบ้านเรียกว่า ควายดำกลีบเผิ้ง หมายถึงควายที่มีกลีบเท้าสีน้ำผึ้ง เพราะเป็นควายรุ่นยังไม่ได้นำไปคราดไถดิน กลีบเท้ายังเป็นสีน้ำผึ้งอยู่ โดยชาวบ้านประมาณ 4-5 คนจะช่วยกันฆ่า ควายที่จัดการฆ่าแล้วก็จะชำแหละชิ้นส่วนต่างๆออก เนื้อสันจะนำไปลาบเป็นอาหารบวงสรวง เครื่องในนำไปต้มในปิ๊บพร้อมกับเนื้อที่เหลือ ส่วนหัวและหนังจะนำมาปูไว้กลางลาน แล้วนำโครงกระดูกทั้งหมดวางทับบนหนังควาย เมื่อถึงเวลาประมาณเก้าโมงเช้า พ่อหนานริน นันทวี ผู้นำในการดำเนินพิธีกล่าวขึ้นท้าวทั้งสี่ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้รักษาโลกทั้งสี่โดยจะนำกระทงจำนวน 6 อันมาวางไว้ที่ร้านทำไขว้กันเป็น 4 ทาง หลังจากทำพิธีบูชาท้าวทั้งสี่แล้ว ก็จะทำพิธีกล่าวคำบวงสรวงไปตามหอต่างๆ โดยเลือกเอาหอที่สำคัญเช่น หอปู่แสะ ย่าแสะ หอวาสุเทพฤาษีและหอขุนหลวงวิรังคะ ซึ่งหอต่างๆเหล่านี้จะอยู่บริเวณที่ล้อมด้วยสายสิญจน์

ประเพณีเลี้ยงดงในแต่ละปีจะมีชาวบ้านและผู้คนจากต่างถิ่นเดินทางมาชมพิธีอันพิสดารและแปลกประหลาดเช่นนี้อยู่เสมอ คาดว่ามีผู้คนเดินทางมาร่วมงานประเพณีเลี้ยงดงไม่ต่ำกว่าพันคน เพราะปีหนึ่งจะจัดให้มีพิธีสำคัญเช่นนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

เมื่อพระสงฆ์เดินทางมาถึงยังพิธี ชาวบ้านก็จะร่วมกันแห่อัญเชิญรูปพระบทหรือภาพวาดรูปพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวกมาจากวัดป่าจี้ซึ่งมีการเก็บพระบทใส่หีบไว้เป็นอย่างดี ชาวบบ้านมีความเชื่อว่าเมื่อก่อนปู่แสะย่าแสะ เป็นยักษ์ที่ชอบกินเนื้อคนเป็นอาหาร พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดที่บริเวณดอยคำ ยักษ์ทั้งสองรับศีลห้าและเลิกกินคน พระพุทธเจ้าได้ตรัสสำทับไว้ว่า “ตราบใดเราตถาคตยังคงเคลื่อนไหวอยู่ ตราบนั้นห้ามยักษ์ทั้งสองกินเนื้อคน” ยักษ์ทั้งสองรับพุทธดำรัสนั้นมาจนถึงสมัยนี้ พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว คนทั้งหลายังกลัวยักษ์ทั้งสองจะกลับมากินคนอีก เลยใช้อุบายหลอกยักษ์ โดยเอารูปพระบทแขวนไว้กับกิ่งไม้ พระบทก็จะแกว่งไปมายักษ์ทั้งสองเห็นก็เข้าใจว่าพระพุทธองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ เมื่อขบวนแห่พระบทมีถึงบริเวณพิธี ชาวบ้านจะช่วยกันอัญเชิญพระบทขึ้นแขวนไว้บนกิ่งไม้ ขณะที่พระสงฆ์กำลังเจริญพระพุทธมนต์อยู่นั้นพระบทก็จะแกว่งไปมา เบาบ้างแรงบ้าง บางครั้งแกว่งจนหัวไม้ที่ขนาบพระบทด้านล่างพุ่งชนต้นไม้จนเปลือกไม้แตกเลยก็มี

หลังจากที่ได้แขวนพระบทเรียบร้อยแล้ว อีกไม่กี่อึดใจก็จะมีการเชิญดวงวิญญาณของปู่แสะย่าแสะเข้าร่างทรง ตอนนี้ชาวบ้านจะพากันมามุ่งที่บริเวณหอพิธีซึ่งด้านในมีร่างทรงนั่งประจำอยู่ 2-3 คน เมื่อวิญญาณปู่แสะย่าแสะเข้าร่างทรงแล้ว ร่างทรงก็จะลงมาจากหอพิธีทำเสียงครางฮือๆทำตาปรือ แล้วเดินไปหยิบกินเครื่องบวงสรวงตามหอต่างๆ จากนั้นจะหยิบเนื้อควายที่ชาวบ้านแร่ใส่ไม้เตรียมไว้ให้ขึ้นพาดบ่ากัดกินอย่างเอร็ดอร่อย แล้วก็กลับมาเอามือกวักดื่มเลือดสดๆที่คั่งค้างอยู่บนโครงกระดูกควายจนปากเปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด เวลานี้ผู้ชมที่นั่งอยู่ด้านนอกบริเวณพิธีต่างส่งเสียงร้อง บางคนทนดูไม่ไหวอาเจียนออกมาเลยก็มี บางครั้งก็ขึ้นไปนั่งกินเนื้อกินเหล้าอยู่บนต้นไม้ หลังจากที่อิ่มหนำสำราญกับเครื่องเซ่นไหว้จนได้ที่แล้ว วิญญาณปู่แสะย่าแสะก็จะออกจากร่างไปเป็นอันเสร็จพิธีเลี้ยงดงในปีนี้

ความเชื่อของบรรพบุรุษชาวลัวะในการฆ่าควายเลี้ยงผีที่ได้ถ่ายทอดมาสู่ลูกหลานถือได้ว่าเป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกอยู่ในความรู้สึกของชาวลัวะทุกคนมาช้านาน ก่อให้เกิดเป็นประเพณีที่แปลกพิศดารและว่ากันว่าเป็นประเพณีเดียวที่ยังคงสืบทอดรูปแบบดั้งเดิมเอาไว้ จนต้องนำเรื่องราวมาถ่ายทอดเล่าสู่ผู้ที่ชื่นชอบการผจญภัยและสิ่งลี้ลับเช่นนี้.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น