ย้อนรอยกองทัพเงี้ยว บุกล้านนา

หลังจากที่พะกาหม่องได้นำพวกกบฏชาวเงี้ยวหลายร้อยคนเข้าปล้นเมืองแพร่เมื่อรุ่งเช้าของวันที่ 25 กรกฏาคม ร.ศ.121 (พ.ศ.2445) ในครั้งนั้นพะก่าหม่องได้พาพรรคพวกเข้าปล้นเอาเงินจากคลังจังหวัดแพร่และยึดเมืองแพร่ไว้ได้ จากนั้นจึงได้แบ่งทัพออกเป็นสองกอง กองหนึ่งให้สล่าโป่จายยกทัพไปตั้งด่านอยู่ที่เขาพลึง เขตรอยต่อระหว่างจังหวัดแพร่และอุตรดิตถ์ ส่วนพะก่าหม่องรีบนำทัพมุ่งหน้าสู่เมืองลำปางและเชียงใหม่เพื่อจะยึดเมือง
เมื่อพะก่าหม่องนำทัพเงี้ยวมาถึงเมืองลำปาง กองตำรวจจากเมืองลำปางได้ต่อสู้ขัดขวางโดยการนำของเจ้าหลวงเมืองลำปาง จนทำให้พะก่าหม่องไม่สามารถเข้าตีเมืองลำปางได้ ขณะเดียวกันที่เมืองเชียงใหม่ก็ได้มีการเตรียมการป้องกันบ้านเมืองเอาไว้อย่างหนาแน่น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้สั่งให้ปิดประตูเมืองทุกแห่ง โดยใช้ท่อนซุงและเสาไม้ขนาดใหญ่ปักลงในหลุมขวางประตูเมืองไว้ แล้วเอาดินถมระหว่างเสาที่ปักจนเต็ม
ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าอินทวโรรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้นให้ทำหน้าที่รักษาประตูเมืองได้แก่
กองกลางมีพระยาเลขาพิจิตร ผู้ช่วยเจ้าราชสัมพันธวงศ์ (เจ้าธรรมลังกา)
กองรักษาประตูท่าแพชั้นนอก มีพระยาแสนหลวงราชนายกเสนี (อิ่นคำ ประทุมทิพย์) บิดาของพระทวีประศาสน์ อดีตประธานสภาจังหวัดเชียงใหม่
กองประตูขัวก้อม มีพระยาสามล้าน หรือ พระคุณาการ (เมือง ทิพยมณฑล)
กองรักษาประตูหายยา มีเจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าน้อยแก้ว)
กองรักษาประตูช้างเผือก มีเจ้าอุตรการโกศล (หนานแก้ววงศ์)
กองรักษาประตูสวนดอก มีเจ้าทักษินนิเกตน์ (มหายศ)
กองรักษาประตูแสนปรุง (สวนปรุง) มีพระยาจ่าบ้านโยนัคราช (ก้อนแก้ว อินทวิวัฒน์)
กองรักษาประตูระแกง มีเจ้าราชบุตร (คำตื้อ) บุตรเจ้าอุปราชบุญทวงศ์
กองรักษาประตูท่าแพชั้นใน มีเจ้าสุริยวงศ์ (คำตัน สิโรรส)
เมื่อพวกกบฏเงี้ยวสามารถยึดเมืองแพร่ได้แล้วนั้น ผู้พิพากษาศาลจังหวัดแพร่และครอบครัวได้หลบหนีจากบ้านพักของท่านไปถึงบ้านแม่ต้าและได้แจ้งข่าวไปยังเมืองลำปางเพื่อขอความช่วยเหลือ จากนั้นทางจังหวัดลำปางได้โทรเลขไปกราบถวายบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ก็ได้ทรงแต่งตั้งให้พระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นแม่ทัพยกกำลังขึ้นมาปราบกบฏเงี้ยว
วันต่อมาพวกกบฏเงี้ยวได้จับตัวพระยาไชยบูรณ์ ข้าหลวงประจำเมืองแพร่และนำไปประหารที่หมู่บ้านร่องกาศ ซึ่งปรากฏอยู่ในคาวซอเรื่องเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ของท่านศรีวิไจย (โง้) ตอนหนึ่งว่า “…มีคนหนึ่งเหย จื้อมันไอ่ตื้อ มาสูบเอามือท่านท้าว ถึงเขตด้าวนาเฟือง หนทักขิณะ ฝ่ายใต้จ๊ายเกี๋ยง ประมาณไก๋เวียง สามปันว่าได่…”
ขณะเดียวกันนั้นนายร้อยเอก เอช.มาร์ค เยนเซ่น ชาวเดนมาร์คซึ่งเดินทางเข้ามาเป็นครูฝึกตำรวจในเมืองแพร่ ได้ร่วมกับนายตำรวจยศร้อยโทและพลตำรวจอีก 54 นายซึ่งทราบข่าวได้เดินทางจากเชียงใหม่ไปถึงลำปาง ครั้นถึงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2445 พวกกบฏเงี้ยวจึงได้เข้าล้อมเมืองลำปาง ข้าราชการที่เป็นคนภาคกลางต่างพาครอบครัวอพยพออกจากตัวเมืองไปหมดสิ้น เพราะทราบดีว่าพวกกบฏเงี้ยวต้องการจะฆ่าข้าราชการคนไทยภาคกลางเท่านั้น
นายร้อยเอกเยนเซ่น ได้อาสาบัญชาการรบได้สังหารพวกเงี้ยวล้มตายเป็นจำนวนมาก ตัวพะก่าหม่องหัวหน้าพวกกบฏเงี้ยวก็ถูกกระสุนปืนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
หลังจากที่พะก่าหม่องถูกยิงเสียชีวิตแล้ว พระบาทสมเด็พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระทัยที่จะพระราชทานยศนายพันตรีและเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฏไทย ชั้นที่ 3 และเงินรางวัลอีกจำนวน 1 หมื่นบาทให้แก่นายร้อยเอกเยนเซ่น แต่เป็นที่น่าเสียใจเมื่อนายร้อยเอกเยนเซ่น ถูกพวกกบฏเงี้ยวลอบสังหารเสียชีวิตที่เมืองพะเยาในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตามท่านก็ยังได้พระราชทานรางวัลความดีความชอบครั้งนี้ แก่มารดาของนายร้อยเอกเยนเซ่น ซึ่งอยู่ที่ประเทศเดนมาร์ค ปีละ 3,000 บาท ตลอดชีวิตของท่าน

ร่วมแสดงความคิดเห็น