“เมืองสมุนไพร” ทางเลือกใหม่ ลดใช้ยาสร้างมูลค่าผลผลิตชุมชน

ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมยา และเวชภัณฑ์แบบก้าวหน้า มูลค่าการตลาดปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนตลาดกลุ่ม รพ.และคลีนิกมูลค่า 1 แสนล้านบาท กลุ่มร้านขายยา 4 หมื่นล้าน นำเข้ามากกว่าครึ่ง โดยกลุ่มยาจำเป็นพื้นฐานที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ จะเป็นกลุ่ม ยาเบาหวาน ยาความดัน ยาโรคหัวใจ ยาลดไขมันในเส้นเลือด เป็นต้น ส่วนใหญ่นำเข้า ดังนั้นเพื่อลดอัตราการใช้ยาในประเทศ จึงเป็นจุดเริ่มต้นสู่โครงการเมืองสมุนไพร โดยมีคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ กำกับดูแลแผนแม่บท ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560-64 มุ่งพัฒนาแต่ละจังหวัดให้เป็นเมืองสมุนไพร
โดยอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมประชารัฐ ภายใต้ 4 มาตรการ เช่น การพัฒนาวัตถุดิบสมุนไพร ยกระดับมูล ค่าผลผลิต มาตรการขยายช่องทางใช้ประโยชน์ เพิ่มมูลค่าและการตลาด ปี 2560 จ.เชียงราย (เขตสุข ภาพที่ 1) เป็น 1 ใน 4 จังหวัดนำร่อง ส่วนปีนี้มี 9 จังหวัดเป้าหมาย เช่น พิษณุโลก ส่วนเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ขยายผลตามแผนในปีที่ผ่านมาร่วมกับเชียงราย ทั้งนี้สมุนไพรและผลิตภัณฑ์กลายเป็นสินค้าทางเลือกใหม่ในการรักษาและสร้างเสริมสุขภาพ เป็นสินค้าที่สามารถเชื่อมโยงการผลิตไปสู่เกษตรกรได้ในวงกว้าง
สมุนไพร คือ พืช ผัก ผลไม้ ที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยต่าง ๆ นำเอาสมุนไพรตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปมาผสมรวมกันคือ”ยา” ถ้าเป็นองค์ประกอบในการทำเป็นยารักษาโรคเรียก”เภสัชวัตถุ” หากนำมาทำอาหาร เรียกว่า เครื่องเทศ สรรพคุณพืช ผัก ผลไม้ ใกล้ตัวเหล่านี้ บางประเภทเราอาจไม่รู้สรรพคุณวิเศษสุด เช่น ผักชีฝรั่ง ช่วยเสริมสมรรถนะทางเพศได้

ปัจจุบันสินค้าสมุนไพรไทย ได้รับการรับรองมาตรฐานน้อยมากราวๆ 4-5 % มูลค่าภายในประเทศ 1.8 แสนล้านบาท ส่งออกมีมูลค่าเพียง 900 ล้านบาท เป็นสมุนไพรสด 600 ล้านบาท และ สารสกัดจากสมุนไพร 300 ล้านบาท ในขณะที่ตลาดโลกมีมูลค่ารวมกว่า 2.7 ล้านล้านบาท ประเทศที่มีมูลค่าการตลาดสูงสุดได้แก่ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ซึ่งประชาชนไม่นิยมบริโภคยา นิยมสมุนไพรและยาแผนโบราณ เพราะให้ผลข้างเคียงน้อยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพ บำรุงร่างกายรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.จันทบุรี ต้นแบบเวชนครสมุนไพร มีการวิจัย ผลิต คิดค้น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาอย่างต่อเนื่อง เปรียบเสมือนห้องรับแขก ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรของประเทศ ส่วนภาคเหนือนั้น มีสถาบันวิจัยหริภุญชัย ลำพูน, คณะเภสัชฯ มช, คณะผลิตกรรมการเกษตร ม.แม่โจ้ ดำเนินโครงการพัฒนา วิจัย สมุนไพรทางเลือกมีผลงานโดดเด่น เป็นแหล่งเรียนรู้ ดูงาน
รวมถึงปราชญ์ท้องถิ่น ในจังหวัดต่างๆทางภาคเหนือ ที่มีการถ่ายทอดภูมิปัญญา สมุนไพรพื้นบ้าน ควบคู่ไปกับการรวมกลุ่มของชุมชน เปิดบริการ สมุนไพรพื้นบ้าน พื้นฐานเพื่อการสาธารณสุข ให้สุขภาพ ปลอดโรค แข็งแรง โดยไม่พึ่งยาแผนปัจจุบันมากนัก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กำลังดำเนินยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพตลาด สมุนไพรไทย นำร่อง ด้วย ขมิ้นชัน ,ไพล, บัวบก และกระชายดำ ตามผลการศึกษาใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร ,เครื่องดื่ม ,สปา, เครื่องสำอางค์ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ตลาดพืชสมุนไพรทางเลือกเพื่อสุขภาพนั้น เป็นเพียงอีกหนึ่งปัจจัยช่วยเสริมสร้างสุขอนามัยที่ สมบูรณ์แข็งแรง ตามวัย ส่วนสำคัญที่สุดคือ การปฏิบัติตามสูตร 3 อ.คือ อาหาร, ออกกำลังกาย และอารมณ์ ต้องบริโภคอาหารที่มีคุณประโยชน์ ให้ครบถ้วนตามหมวดหมู่โภชนาการ หมั่นออกกำลังกาย พยายามผ่อนคลายอารมณ์ให้เบิกบาน จิตใจที่ดี จะเป็นอาหารเสริมพลังชีวิตที่หาซื้อไม่ได้ และจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้นด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น