เที่ยวป่าดึกดำบรรพที่ “ดอยหลวงเชียงดาว”

ดอยหลวงเชียงดาว นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดฮิตติดอันดับต้นของเมืองไทยที่เย้ายวนใจให้คนหนุ่มสาวจากทั่วประเทศพากันเดินทางขึ้นไปทดสอบแรงใจและความอดทนเป็นจำนวนมาก และเมื่อลมหนาวเริ่มพัดโชยมาเยือนนักเดินทางทั้งหลายต่างพากันแบกเป้เข้าป่าขึ้นไปสัมผัสกลิ่นไอธรรมชาติบนดอยหลวง ด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็น ผนวกกับธรรมชาติที่สวยงามจึงทำให้ฤดูหนาวของทุกปี ดอยหลวงเชียงดาวไม่เคยเงียบเหงาไปจากนักท่องเที่ยว
ดอยหลวงเชียงดาว ถือได้ว่าเป็นภูเขาหินปูนเพียงไม่กี่แห่งของประเทศที่ไม่เพียงแต่มีความงดงามของธรรมชาติเท่านั้น หากบริเวณนี้ยังเป็นป่าต้นน้ำชั้นหนึ่งของแม่น้ำปิง และยังเป็นแหล่งที่อาศัยของสัตว์ป่าหายากอีกหลายชนิด ด้วยความสูงที่อยู่เหนือจากระดับน้ำทะเล 2,225 เมตร ประกอบไปด้วยดอยเขาหินปูนสูงสลับซับซ้อน อันเกิดจากตะกอนทับถมอยู่ใต้ทะเลเมื่อราว 50 ล้านปีมาแล้ว กระทั่งในยุคต่อมามีการเคลื่อนตัวของชั้นเปลือกโลกอย่างรุนแรง ทำให้แผ่นดินยกตัวสูงขึ้นเป็นภูเขา ขณะเดียวกันแผ่นดินส่วนที่ทรุดตัวลงก็กลายเป็นแอ่งระหว่างภูเขานั้นไป และยั่งนานวันสายน้ำและสายฝนก็ทำหน้าที่กัดเซาะเทือกเขาหินปูนให้สึกกร่อนเป็นผิวขรุขระเกิดหน้าผาสูงชัน

จากความโดดเด่นของภูเขาหินปูนที่มีความสูงเกิน 1,900 เมตร ทำให้พืชพรรณที่ขึ้นอาศัยบนดอยแห่งนี้มีลักษณะที่โดดเด่นพิเศษตามไปด้วย เมื่อขึ้นไปบนดอยหลวงเชียงดาวเราจะพบว่ามีดอกไม้สวยงามหลายชนิดขึ้นอยู่ตามเชิงผาและซอกหิน พรรณไม้บางชนิดขึ้นอยู่ได้เป็นกลุ่ม ๆ มีทั้งพืชล้มลุกและไม้พุ่มขนาดเล็ก ซึ่งเป็นพรรณไม้ในเขตอบอุ่น เราจึงเรียกกลุ่มของพรรณไม้ที่พบในลักษณะนี้ว่า สังคมพืชกึ่งอัลไพน์ (Sub-alpine)

ดอยหลวงเชียงดาวเริ่มปรากฏชื่อครั้งแรกในฐานะของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เมื่อมีคณะสำรวจจากสโมสรเพื่อนเดินทางขึ้นไปสำรวจบนดอยหลวงเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี 2524 และหลังจากนั้นเป็นต้นมาชื่อของดอยหลวงเชียงดาวก็เข้าไปอยู่ในความทรงจำของนักเดินทางที่ชื่นชอบการท้าทาย กล่าวกันว่านักเดินทางทั้งหลายที่เคยเดินทางข้ามภูดอยต่าง ๆ มานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว หากยังมิมีโอกาสขึ้นไปสัมผัสความงามของดอยหลวงเชียงดาวก็ยังไม่นับว่าเป็นนักเดินทางได้อย่างสมบูรณ์ เพราะดอยหลวงเชียงดาวมีอะไรที่มากกว่าการเป็นภูเขาหินปูน

สภาพทางกายภาพบริเวณยอดดอยมีความแตกต่างเฉพาะของดอยหลวงเชียงดาวและด้วยความสูงเกิน 1,900 เมตร พืชที่สามารถขึ้นได้จึงมีเพียงพืชล้มลุกขึ้นสลับกับไม้พุ่มเตี้ยเท่านั้น มีรายงานการสำรวจพันธุ์ไม้บนดอยหลวงเชียงดาวเป็นครั้งแรกโดย ด๊อกเตอร์ ซีซี.โฮสเซ็น (Dr. CC.Hosseus) นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน ที่เข้ามาเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้ระหว่าง ปี พ.ศ.2447-2448 พร้อมด้วยคณะของ ด๊อกเตอร์ เอ.เอฟ.จี. เคอ. (Dr. A.F.G Kerr) นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ ในช่วงระหว่าง ปี พ.ศ.2456-2464 หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ได้มีการศึกษาและเก็บตัวอย่างในพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาวอย่างต่อเนื่องหลายครั้งด้วยกัน

ข้อมูลเบื้องต้นที่นักพฤกษศาสตร์เคยสำรวจไว้ พบว่าดอยหลวงเชียงดาว เป็นพื้นที่ ๆ มีความหลากหลายของสภาพป่าและมีพันธุ์พฤกษศาสตร์ประมาณกว่า 1,800 ชนิด ขณะเดียวกันความหลากหลายของสภาพป่าบนดอยหลวงมีอยู่ถึง 4 ประเภท ได้แก่ ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบเขาและป่าละเมาะเขาป่าดิบแล้ง อยู่ในระดับความสูง 300 – 600 เมตร กระจายอยู่ทั่วไปตามพื้นที่หุบและเนินเขา พันธุ์ไม้ที่พบคือ ยางแดง ยางหมอกและปอขี้แฮดป่าเบญจพรรณชื้น พบที่ระดับ 500 – 900 เมตร สภาพป่าโดยทั่วไปทางตอนล่างจะค่อย ๆ เริ่มเปลี่ยนลักษณะกลมกลืนกันไปกับป่าดิบแล้ง โดยมีไผ่บงดำและไผ่หกเป็นพันธุ์ไม้หลักป่าดิบเขา สภาพนิเวศแบบนี้จะพบอยู่ในช่วงแคบ ๆ ตามหุบเขาที่ระดับ 1,100 – 1,900 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่มีความชุ่มชื้นสูงที่สุด มักมีเมฆหมอกปกคลุมตลอดปี พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น ก่วมขาว ยางน่อง ก่อสร้อย เป็นต้น
ป่าละเมาะเขา จะอยู่ในความสูงที่เกินกว่า 1,900 เมตรขึ้นไป บริเวณจะพบพืชเขตอบอุ่นหลายชนิด โดยเฉพาะไม้พุ่มที่พบมาก เช่น ส้มกุ้ง พวงแก้วกุดั่น หรีดเชียงดาว เอื้องดินและกุหลาบขาวเชียงดาว เป็นต้น
นอกจากพันธุ์ไม้หายากในบริเวณเทือกเขาเชียงดาวแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำปิง เป็นพื้นที่อนุรักษ์ของพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น ผีเสื้อสมิงเชียงดาว ไก่ฟ้าหางลายขวางและกวางผา

ดอยหลวงเชียงดาว ผ่านวันเวลาทั้งสุขและทุกข์มาเนิ่นนาน ช่วงเวลาที่ดอยหลวงบอบช้ำและถือเป็นยุคตกต่ำที่สุด ในช่วงที่มีการจัดคาราวานขึ้นดอยหลวงเชียงดาว ในครั้งนั้นมีนักท่องเที่ยวสนใจเดินทางขึ้นไปเยือนดอยหลวงกว่า 1,000 คน ขณะเดียวกันทางอำเภอก็ได้เชิญสื่อมวลชนประโคมโหมข่าว ทำให้ชื่อดอยหลวงเชียงดาว “บูม” สุดขีด หลังจากนั้นมาประมาณกันว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นดอยหลวงเชียงดาวมากกว่า 1,000 คนในแต่ละปี ส่งผลให้ธรรมชาติถูกทำลายอย่างบอบช้ำ สัตว์ป่าหลายชนิดหายไปแต่สิ่งที่เข้ามาแทนที่ก็คือกองขยะจำนวนมหาศาล

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงมากขึ้น กระทั่ง ปี 2533 เมื่อมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับตัวแทนชาวบ้านได้เริ่มตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของธรรมชาติบนดอยหลวง มีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านการท่องเที่ยวเพื่อค้นหารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสมกับดอยหลวงเชียงดาว

ปัจจุบันมีการกำหนดคนที่จะเดินทางขึ้นดอยหลวงเชียงดาวอยู่ที่ไม่เกินวันละ 200 คน และกำหนดสถานที่พักแรมบนดอยหลวง 3 จุดคือ บริเวณอ่างสลุง ดงท้อและอ่างกล้วยแดง ขณะเดียวกันมีรายงานว่าในปี 2546 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นดอยหลวงเชียงดาวราว 2,000 คน คิดโดยเฉลี่ยแล้ววันละ 22 คนดอยหลวงเชียงดาว ขุนเขามหัศจรรย์หนึ่งในสถานที่ใฝ่ฝันของคนเดินทางในการดั้นด้นค้นหา ผ่าด่านอุปสรรคและความยากลำบาก จึงนับเป็นบททดสอบทางใจของคนหนุ่มสาวได้ดีบทหนึ่งทีเดียว

ร่วมแสดงความคิดเห็น