มายาความหวัง “เมืองมรดกโลก” เชียงใหม่-ลำพูน ไม่ตีตรานี้ก็ขายได้

ในบรรดาเมืองมรดกโลกของไทยนั้น ที่โดดเด่นจริงๆมักจะมี 2 รูปแบบคือ อุทยานด้านประวัติศาสตร์ที่มีความเก่าแก่ เป็นเมืองโบราณ เช่น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และพระนครศรีอยุธยา หรือแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งยากจะหาคำอธิบายความมหัศจรรย์ในแต่ละแหล่งได้ นอกจากเดินทางไปสัมผัส แล้วจะซึมซับความทรงคุณค่าที่ปรากฎรอบมุม 360 องศา ส่วนอีกแบบคือ ความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปีพศ.2534 และผืนป่าเขาใหญ่ ที่ตีตรามรดกโลกไปในปีพศ.2548 หรือแม้แต่ล่าสุดที่อุทยานธรณีในจ.สตูล เป็นแห่งที่ 5ของอาเซียนที่ติดป้ายมรดโลกไปเมื่อ 17 เม.ย.61

สำหรับความพยายามของเชียงใหม่ และลำพูนนั้น พื้นที่ในลำพูน มีการศึกษาคุณค่าความโดดเด่นและศักยภาพต่างๆเพื่อเสนอขอรับพิจารณาเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปีพศ. 2549 ส่วนเชียงใหม่ ผ่านการพิจารณาขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อจะพิจารณาเป็นเมืองมรดกในอนาคตช่วงปี 2558 ทั้งนี้แรงบันดาลใจที่จะผลักดันเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก รับรู้กันในวงแคบๆของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ราวๆ ปีพศ.2555 ก่อนจะจุดพลุสร้างมายาแห่งความหวัง ผ่านการโยนโจทย์และคำตอบแบบบะหมี่สำเร็จรูปเลยว่า น่าจะเป็นการรวบรวมเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ การอยู่ร่วมกันระหว่างยุคสมัยที่กลมกลืน หากสรุปความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนที่ประสงค์จะมีส่วนร่วมกับการผลักดัน เชียงใหม่ ให้เป็นเมืองมรดกโลกให้ได้ อาจต้องเริ่มต้นด้วยคำถามพื้นๆเลยคือ ผลักดันเรื่องนี้ไปทำไม จะประกาศคุณค่าเชียงใหม่ให้โลกรับรู้ หรือหวังมูลค่าในอนาคตด้านต่างๆอย่างไรก็ตามแนวคิดเห็นที่เสนอร่วมกันหลายมุมมองกับคุณค่าอันโดดเด่นนั้น ปูพื้นฐานมาจากความคิดของพญามังราย ว่า ไม่ด้อยกว่าบุคคลสำคัญของโลกในยุคร่วมสมัยพระองค์กับแนวคิดการสร้างชาติ บ้านเมือง ที่สืบผ่านมาถึงปัจจุบัน ก่อเกิดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ระบบความเชื่อ ประเพณีและจารีต วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และเชื่อมโยงกับเมือง การสร้างเมือง ผังเมือง สถาปัตยกรรมล้านนา และสิ่งก่อสร้างแสดงอัตลักษณ์ของเชียงใหม่ที่ยังมีอยู่ อาณาบริเวณพื้นที่เดิมจำกัดภายในเขตเมืองเก่า บริเวณรอยต่อไปถึงดอยอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งดอยสุเทพ ดอยคำ ออกจะเลยเถิดไปและความกังวลที่ว่า หากเป็นมรดกโลกจะมีผลกระทบกับวิถีชีวิตผู้คน จำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่อย่างไรบ้างก็ดูเหมือนจะชักคิด ช่างกังวลกันโดยโครงสร้างการนำเสนอหลักๆ ราวกับถอดแบบพิมพ์จากการนำเสนอนครลำพูนสู่เมืองมรดกโลก เพราะหากจะเปรียบเทียบจุดเด่น จุดที่ควรนำเสนอในการตีตราเมืองมรดกโลกนั้น 2 เมือง ไม่ด้อยกว่ากันเลย ลำพูน อาจจะหลีกเว้นเขตเมืองใหม่ ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกไปเพราะเป็นเขตอุตสาหกรรม แต่ถ้าค้นหาความทรงคุณค่าของเมืองที่ผ่านมาตามกาลเวลาในแต่ละยุคสมัย ถ้าย้อนกันก่อนยุคประวัติศาสตร์ มาถึงยุคหริภุญไชยนคร แค่อาณาจักรห้วงนั้นมีเวียงเก่าแก่ เมืองโบราณรายรอบชุมชนสุดบรรยายประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ระหว่างที่ลำพูน พยายามรอคอยร่วมๆ 12 ปี ยังไม่มีท่าทีขึ้นบัญชีเบื้องต้น ในขณะที่เชียงใหม่พยายามมาประมาณ 6-7 ปี งบประมาณ 10-20 ล้านบาท คงไม่น่าจะใช่ข้อจำกัดหรืออุปสรรค

ข้อเสนอแนะที่ว่าควรจัดกิจกรรมที่เปิดกว้างให้ผู้สนใจเข้ารับฟัง เสนอความคิดเห็น นำเสนอข้อมูล ประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ เรื่องเชียงใหม่ จะก้าวสู่เมืองมรดกโลก โครงการต้องตอบสังคมให้ชัดเจนว่า ทำเพื่ออะไร ทำแล้วได้อะไร เพราะหากหวังกระตุ้นพลัง สังคมให้เกิดการหวงแหน อนุรักษ์ ของดีที่มีอยู่ รวมถึง รายได้จากการท่องเที่ยว ความทรงคุณค่าในมูลค่าเหล่านั้น คงไม่จำเป็นต้องมีตรารับประกัน เมืองมรดกโลก เนื่องจาก ความหวังและสิ่งที่ได้ ไร้ขีดจำกัด เกินกว่าจะควบคุมแล้วในขณะนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น