หมุนตามวัน : ชีวิตแบบพอเพียง

วันนี้ขอหยิบแนวทางของการใช้ชีวิตแบบพอเพียงมาฝาก โดยเฉพาะช่วงที่ปัญหาเศรษฐกิจยังคงรุมเร้าประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ เราลองมาดูครับว่า 10 แนวทางที่เขาแนะนำเพื่อให้เราเป็นคนใช้ชีวิตแบบพอเพียงนั้นมีอะไรบ้าง

1.มี ความพอประมาณ พื้นฐานสำคัญสำหรับการสร้างเศรษฐกิจอย่างพอเพียงก็คือ ต้องรู้จักพอประมาณ เพราะถ้าคนเรารู้จักพอในความต้องการของตน ความโลภก็จะเริ่มน้อยลง แต่คำว่าพอประมาณก็ไม่ได้หมายถึงน้อยเกินไป บางคนอ้างว่าพอประมาณจึงกินน้อยจนเกิดโรค ซึ่งนั่นไม่ได้แปลว่าพอ แต่หมายถึงการเบียดเบียนตนเอง ดังนั้นความหมายของพอประมาณจึงแปลได้ว่า ความพอดี ไม่มากไป หรือ น้อยเกินไปจนสุดโต่ง และที่สำคัญคือต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

2.รู้จัก เหตุและผล การจะใช้ชีวิตอย่างพอเพียงส่วนหนึ่งต้องมาจาก การรู้จักเหตุ และผล ซึ่งไม่ได้หมายถึง เหตุและผลในการจับจ่ายซื้อของหรือใช้เงินเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการมีเหตุผลทุกการตัดสินใจ ทุกการลงทุน ทุกการกระทำต้องคำนึงถึงเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และผลที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ และถ้าเราสร้างการมีเหตุและผลให้ติดตัวแล้วต่อไปถ้าเราจะหยิบเงินจากกระเป๋า ความยับยั้งชั่งใจก็จะเกิดตามมาเป็นอัตโนมัติในทันที

3.สร้าง ภูมิคุ้มกันที่ดีให้ชีวิต ในยุคที่บ้านเมืองมีการเติบโต และผกผันทางเศรษฐกิจรวดเร็วเช่นนี้การสร้างภูมิคุ้นกันให้พร้อมที่จะเผชิญ ทุกสิ่งดูจะเป็นอีกเรื่องที่จำเป็น โดยเราจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเผชิญพร้อมยอมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงที่มาจากทั้งภายในและภายนอกทั้งนี้วัคซีนที่ต้องฉีดก็คือ ความรู้กับ คุณธรรม ความรู้คือการรอบรู้รอบคอบ รู้จักนำเทคโนโลยีต่างๆมาวางแผนและปฏิบัติ ส่วนคุณธรรมคือความอดทน ความเพียร และความซื่อสัตย์ ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่การเกิดสติปัญญาในการใช้ชีวิต

4.เพิ่ม รายได้ ลดรายจ่าย หลักการนี้ถือเป็นพื้นฐานของการออมเลยก็ว่าได้ สำหรับการเพิ่มรายได้นั้นเราต้องยอมรับความจริง ก่อนเสียว่าทุกสิ่งในโลกไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ทุกอย่างต้องมีการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนค้าขาย การหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ บางครั้งก็ต้องลงทุนลงแรง เช่น การหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อเป้าหมายในการเพิ่มเงินเดือน หรือหาโอกาสก้าวหน้าในอนาคต ส่วนการลดรายจ่ายต้องเริ่มที่รายจ่ายในชีวิตประจำวัน และให้ลำดับความสำคัญ จากนั้นลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นจนเหลือแต่สิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตจริงๆ

5.ฉลาด ซื้อ ฉลาดใช้ เมื่อเราจัดทำรายการแล้วว่าสิ่งไหนที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทีนี้เราต้องฉลาดที่จะซื้อด้วย โดยการเลือกซื้อสินค้าที่คุ้มค่า คุ้มประโยชน์ ที่สำคัญคือต้องฉลาดคิดก่อนก่อหนี้ เช่น ถ้าคิดจะก่อหนี้เงินกู้เพื่อเช่นที่อยู่อาศัย ไม่ควรให้มีภาระการผ่อนชำระเกิน 30% ของรายได้ครอบครัว และถ้าจะกู้เพื่อซื้อรถยนต์ก็ ไม่ควรให้มีรายการผ่อนชำระเกิน 15% ของ รายได้ครอบครัวเช่นกัน ส่วนฉลาดใช้คือ การรักษาสิ่งของต่างๆให้คงอยู่ในสภาพที่เหมาะกับการใช้งานได้นานๆ รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่าย จำพวกค่านํ้า ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ด้วย

6.พอ เพียงด้วยวิถีพุทธ การที่จะให้เศรษฐกิจชุมชน เป็นเศรษฐกิจที่พอเพียงได้ก่อนอื่นเราต้องสร้างวินัยให้ตนเอง และสร้างชุมชนเล็กๆอย่างครอบครัวให้กลายเป็นชุมชนที่พอเพียงเสียก่อน โดยหัวใจหลักคือการพึ่งพาตนเอง รู้จักคุ้นค่าของธรรมชาติและรู้จักใช้สิ่งที่ธรรมชาติให้มา ให้เป็นประโยชน์ที่สุด และต้องไม่ลืมที่จะ ลด ละ เลิก อบายมุก

7.จด ทุกครั้งเมื่อจ่าย การจดคือหลักง่ายๆ ในการบริหารเงิน หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นการเฝ้าติดตามรายจ่าย พร้อมทั้งบริหารการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับชีวิตจริง ซึ่งบัญชีรายรับรายจ่ายเหล่านี้จะเป็นหลักฐานชั้นดีในการเตือนตัวเองว่าใน แต่ละเดือนเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่จำเป็น และไม่จำเป็น พอเราจดจะเห็นทันทีว่าเงินหายไปไหน และพอรู้เส้นทางการจากไปของเงินแล้ว เราก็จะได้จัดการปิดเส้นทางนั้น และตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงิน ไม่ปล่อยให้มันไปเที่ยวไหนอีกแล้ว

8.เทคนิค ให้มีเงินออม การออมจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปหากเราตั้งใจแน่วแน่ที่จะกำหนดเป้าหมายการ เก็บออมว่า ในแต่ละเดือน แต่ละปี จะมีเงินออมเท่าไหร่ จากนั้นกำหนดเป้าหมาย การใช้จ่ายในแต่ละวัน แต่ละเดือน และเมื่อไหร่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ แล้วจึงประหยัดรายจ่ายด้วยการจ่ายน้อยกว่าหรือเท่ากับเป้าหมายการใช้จ่าย เพื่อให้มีเงินเหลือมากขึ้น และถ้าเป็นไปได้ไม่ควรก่อหนี้เมื่อโดยจำเป็น และเกินกำลัง ซึ่งไม่ได้แปลว่ามีหนี้ไม่ได้ แต่ให้เตือนตัวเองเสมอว่าหนี้มีได้แต่ต้องไม่เกินกำลัง และต้องชำระคืนให้หมดโดยเร็ว

9.ฉลาด ใช้ชีวิต ท้ายที่สุดของการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง ก็คือการฉลาดใช้ชีวิต ซึ่งการฉลาดนี้ไม่ได้แปลว่าการฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ ฉลาดออม และฉลาดหาเงินเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงความฉลาดใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไม่ต้องรํ่ารวยเป็นเศรษฐี แต่ก็ไม่ได้อดอยากจนต้องเบียดเบียนตนเอง และก็ไม่ใช่ว่าอยากได้จนต้องเบียดเบียนคนอื่นนั่นเอง

10.ยุทธการหมายเลข 10 วิธี นี้เป็นยุทธการสำหรับคนที่มักจะอดใจไม่ได้ เมื่อได้เงินมาโดยการออมแบบเลข 10 นี้มี 2 แบบคือ การออมเงินแบบลบ 10 มีวิธีการคือ เมื่อเราหาเงินมาได้เท่าไหร่ให้หัก ไว้เป็นเงินออม ก่อนที่จะเอาไปใช้จ่ายทันที 10% ของเงินที่หามาได้ เช่น รับเงินเดือน 8000 ก็หักไว้เป็นเงินออมก่อนเลย 800 บาท การออมเงินแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่มีวินัยทางการเงินค่อนข้างดี ส่วนอีกแบบคือการออมเงินแบบบวก 10 หมายถึงถ้าเราใช้เงินไปเท่าไหร่ ต้องเก็บเงินเพิ่มให้ได้ 10% ของเงินที่ใช้ไป เช่น ซื้อของ 2,000 บาท ก็ต้องออมเงินเพิ่ม
200 บาทไปพร้อมๆ กันวิธีนี้เหมาะกับคนที่มีนิสัยชอบจับจ่ายใช้สอยเพราะจะช่วยเตือนความจำให้เราเก็บเงินทุกครั้งไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น