เรื่องเล่าเสาหลักเมือง ตำนานล้านนากับมายาคติแบบไทยๆ

ระหว่างวันที่ 30 พค.นี้จนถึง 6 มิย.62 ที่เชียงใหม่จะมีประเพณีบูชาเสาอินทขีล ณ วัดเจดีย์หลวง สถานที่ตั้ง “ศาลเสาหลักเมือง” ซึ่งมีความเชื่อสืบกันมาว่าเป็น สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งในแผ่นดิน ดลบันดาลสร้างสุขให้ชาวบ้าน ชาวเมืองทุกถิ่นฐานที่มากราบไหว้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ทรงอธิบายเรื่อง”เสาหลักเมือง”ไว้ในหนังสือวงวรรณคดี ฉบับเดือนเม.ย พ.ศ. 2491 ว่า”การสร้างเสาหลักเมือง เป็นประเพณีพราหมณ์ มีมาแต่อินเดีย ไทยตั้งขึ้นตามธรรมเนียมนี้” ตามโบราณราชประเพณีหลักบ้าน หลักเมือง ถือเป็นฤกษ์ นิมิตมงคลในบ้านเมือง เพราะก่อนลงเสาหลักเมืองจะมีพิธีทำนายดวงเมือง แล้วผูกเป็นปูมตำนาน รอการพิสูจน์ในรุ่นต่อๆมา ดั่งเรื่องเล่าการผูกชะตาเมืองกรุงเทพฯครั้ง ร.1 โดย โหรหลวงได้ทูลเกล้าฯ ถวายดวงเมือง 2 แบบให้เลือก และสุดอัศจรรย์ยิ่งว่า หลังจาก 150 ปีผ่านพ้น ล้วนเป็นไปดั่งฟ้าลิขิต ในพงศาวดาร กล่าวถึงการสร้างเสาหลักเมืองของไทย มีมาตั้งแต่ครั้ง กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์เรื่องเล่า” เสาหลักเมือง”แต่ละยุคสมัยมีทั้งตำนานพื้นบ้าน เล่าลือสืบกันมา บ้างเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ มีหลักฐานอ้างอิง สืบค้นที่มาที่ไปได้ ต้องยอมรับว่าบันทึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประเทศไทย มักจะอ้างอิงบันทึกจากชาวต่างชาติ ยกตัวอย่าง พิธีตอกเสาเข็มซึ่งเขียนในพ.ศ.2181 ของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต ครั้งกรุงศรีอยุธยา เคยมีพิธีนี้เมื่อพ.ศ.2177 รัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง แม้กระทั่ง “ตำนานอินทขิลหรือตำนานสุวรรณคำแดง” กล่าวถึงชาวลัวะ ที่เคยตั้งถิ่นฐานในแผ่นดินที่ต่อมาเป็นพระนครเชียงใหม่ ศูนย์กลางอาณาจักรล้านนา ยุคพระอินทร์ประทานความช่วยเหลือ เป็น ตำนานเรื่องเล่าเสาอินทขิลเชียงใหม่ อีกตำนานเกือบทุกจังหวัดในไทย จะมีเสาหลักเมืองอย่างน้อย 1 หลัก แต่บางจังหวัดก็ไม่มี เช่น จ.แม่ฮ่องสอน แต่มีศาลที่เปรียบเสมือนศาลหลักเมืองถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองคือ”ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก”เยื้องๆ ทม.แม่ฮ่องสอน บางจังหวัดมีถึง 3 แห่ง เช่น เชียงราย ตั้งอยู่ในวัดกลางเวียง, ในอำเภอแม่สาย และเสาสะดือเมือง 108 หลัก วัดพระธาตุดอยจอมทอง ซึ่งชาวเชียงรายร่วมใจสร้าง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จฯมาเจิมเสาสะดือเมืองนี้เมื่อ 27 ม.ค. 2531 สำหรับเชียงใหม่มี 1 แห่ง ที่วัดเจดีย์หลวง วัดที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1934 ในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์มังรายเดิมประดิษฐานอยู่ ณ วัดสะดือเมือง หรือวัดอินทขิล บริเวณหอประชุมติโลกราช เยื้องราชานุสาวรีย์3 กษัตริย์ ย้ายมาในสมัยพระเจ้ากาวิละ ราวปี พ.ศ. 2343 มีการบูรณะใหม่เป็นเสาปูนจากที่เป็นโลหะ ติดกระจกสี บนเสาเป็นบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง เสานี้สูง 1.30 ม. วัดรอบได้ 67 ม. หลักเมืองเก่าแก่ที่สุดคือ หลักเมืองศรีเทพ เพชรบูรณ์ รูปทรงศิลาจารึกอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เสาหลักเมือง มักจะเป็นที่เคารพบูชาของชาวเมืองนั้น ๆ แวะไหว้ สักการะ และทุกแห่งจะมีงานประเพณีทุกๆปีด้วย ขึ้นกับวันเวลาที่เหมาะสม เช่น ประเพณีบูชาเสาอินทขีล เชียงใหม่ 30 พค-6 มิย.62 ในอดีตมีเพียงพิธีบวงสรวงเซ่นสังเวยเทพยาดาอารักษ์ ผีบ้าน ผีเมือง และบูชากุมภัณฑ์ พร้อมเชิญผีเจ้านายลงทรง เพื่อถามความเป็นไปของบ้านเมืองว่าจะดีจะร้ายอย่างไร ฟ้าฝนจะอุดมสมบูรณ์หรือไม่ปัจจุบันมีพิธีพุทธเข้ามาผสมผสาน โดยวันแรกของการเข้าอินทขิล จะแห่พระเจ้าฝนแสนห่า ให้ประชาชนสรงน้ำและใส่ขันดอก เพื่อความเป็นสิริมงคล พิธีจัดเป็นประจำทุกปีมักจะทำในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 8 เหนือ เรียกว่า เดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก เรื่องเล่าเสาหลักเมือง นอกจากความมหัศจรรย์ ยังมีหลากหลายมุมที่น่าสนใจ ชวนค้นหาคำตอบ หรือแวะเวียนไปกราบไหว้ ร่วมงานพิธี ดังเช่น เสาหลักเมือง นครลำพูน ที่ตั้งอยู่นอกเขตตัวเมือง ชิดติดบนดินแดนรอยต่อระหว่าง นครลำพูน กับ นครเชียงใหม่ ถ้าจะกล่าวถึง เสาหลักเมือง ศาลหลักเมืองประจำจังหวัด นอกจากความศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังมีศิลปะและความเป็นมาที่น่าสนใจศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช หรือศาลที่ชาวบ้านคุ้นเคยว่า”ศาลจตุคามรามเทพ ส่วน”ศาลหลักเมืองประจวบคีรีขันธ์ “ว่ากันว่า ได้รับการยกย่องเป็นศาลหลักเมืองที่ใหญ่และสวยที่สุดในไทย ศาลหลักเมืองกรุงเทพ ตั้งอยู่ที่ หัวมุมสนามหลวง ข้างพระบรมมหาราชวัง เป็นศาลหัลกเมืองที่ครั้งหนึ่งในชีวิตของคนไทยต้องไปกราบไหว้ให้ได้ เป็นต้น แต่ทุกแห่งจะมีข้อห้ามเหมือนกันคือ สุภาพสตรีห้ามเข้าบริเวณประดิษฐานหลักเมือง ในศาล ในวิหาร จะว่าไป การเคารพบูชากราบไหว้ ต่อให้มุดลงไปกราบจนถึงห้องเก็บ บรรจุสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อานิสงส์ก็คงไม่ต่างกันหากผู้ไหว้ ตั้งมั่น ในศีล ในธรรม ประพฤติดี ละเว้นชั่ว สาธุ..

ร่วมแสดงความคิดเห็น