หนี่งเดียวในล้านนา ความมหัศจรรย์ ที่วัดดอยแท่นพระผาหลวง -แม่โจ้

หากกล่าวถึงวัดร้างกลางป่า ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง อยู่ด้านหลังมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ ถ้าสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา จะพบความเป็นมายิ่งใหญ่ ด้วยเป็นวัดที่ “พญากือนา” หรือพญาธรรมิกราช กษัตริย์ล้านนา ลำดับที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ครองราชย์ พ.ศ.1898 -1928 ได้บูรณะปูมตำนานพื้นถิ่น ยังบอกเล่าถึงครั้งก่อนพระพุทธองค์จะเสด็จปรินิพพาน ได้มาเสวยภัตกิจ ณ แท่นหินศิลาที่ปรากฎในวัดปัจจุบัน แล้วตรัสกับพระอานนท์ว่า ภายหน้าหินก้อนนี้ จักปรากฏชื่อ “ผาหลวงแท่นพระ” มีเรื่องราวชวนพิศวง อัศจรรย์ ในแต่ละตำนานมากมาย รวมถึงวัดแห่งนี้ เคยเป็นที่จำพรรษาของครูบาเจ้าศรีวิชัย
และหลวงปู่แหวน สุจิณโณ สมัยเดินธุดงค์แต่ตำนานเมืองเชียงใหม่ บันทึกว่า ปี พ.ศ.2357 สมเด็จเสฏฐ (เจ้าอาวาส) วัดศรีเกิด ประธานฝ่ายสงฆ์ และพระเจ้ากาวิละ ประธานฝ่ายฆราวาส ได้ร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์พระวิหารแท่นพระคีรี และปลูกต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ พร้อมจารึกคำปรารถนาให้ได้พบพระอริยเมตไตรย
สำหรับวัดดอยแท่นพระผาหลวง จากเอกสารบันทึกที่ พระครูวิสาร์ทกิตยาภรณ์ ( หลวงพ่อวัลลภ กิตฺติภทโท ) อดีตเจ้าอาวาส พระเกจิดัง ผู้ได้สมญานามว่า ลงนะหน้าทองขลังจริง ซึ่งมรณภาพเมื่อ 23 ธันวาคม 2556 เวลา 22.00 น. ณ รพ.สันทราย สิริอายุ 73 ปี 37 พรรษา หลังจากรักษาตัว ด้วยโรคหัวใจ มานานระบุว่า “หลังจากธุดงค์มาบริเวณนี้ในปี 2519 เมื่อเดินทางกลับจากท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ตั้งใจจะหาวัดใกล้บ้าน จำพรรษา เพื่อดูแลโยมพ่อ โยมแม่”อีกด้านจากลูกศิษย์ ผู้ใกล้ชิดหลวงพ่อ เล่าว่า หลวงพ่อวัลลภ เป็นบุตรพ่อเป็ง แม่สม มอญแสง ชาวบ้าน หมู่ที่ 6 ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ หลังจากที่บวชเรียนตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 ขณะอายุ 12 ปี ที่วัดแม่แฝก เมื่อสอบเปรียญธรรมประโยค 3 ไม่ผ่าน จึงตัดสินใจออกธุดงค์ ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานและเวทย์วิทยาอาคมทุกอย่าง กับครูบาอาจารย์ดังๆในยุคนั้น พออายุ 35 ปี จะกลับมาจำวัดใกล้ๆบ้าน ก็ปรากฎว่า โยมพ่อ โยมแม่ได้ย้ายไปตั้งหลักปักฐานที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ จึงได้ตัดสินใจธุคงค์ขึ้นไปดูวัดร้าง ที่ดอยแท่นพระซึ่งเก่าแก่ร่วมๆ 700 ปี จำพรรษาบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดนี้เรื่อยมา จนวาระสุดท้ายของสังขาร
ในช่วงปี 2519 นั้น เส้นทางมายังวัดเปลี่ยว ยากลำบาก ไม่สะดวกเช่นปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลจากพระบารมี ในหลวง ร.9 ครั้งเสด็จฯ มายังพื้นที่บริวณบ่อน้ำวัดนี้ เพื่อทอดพระเนตร สภาพผืนป่า และทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ ม.แม่โจ้ ตลอดจนชลประทาน และหลายภาคส่วน ร่วมกันพัฒนาฟื้นฟู ผืนป่าบ้านโปง อ.สันทราย จุดเด่นของวัดตั้งแต่ ปากทางเข้าหน้าถนนชุมชน ตรงข้ามตลาดแม่โจ้ มายังวัดดอยแท่นพระผาหลวง ตามรายทางผ่านชุมชน หลัง ม.แม่โจ้ ผ่านชุมชนบ้านโปง เข้าสู่เขตป่าอนุรักษ์ ผ่านห้วยน้ำโจ้ มาถึงบริเวณทางขึ้นวัดจะพบพระนอน และรูปปั้นเทพอสูร ตามความเชื่อของชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ มีพื้นเพเป็นไทใหญ่ เชื่อว่าจะช่วยปกป้องรักษาป่าไม้ และต้นน้ำลำธารให้มีความอุดมสมบูรณ์ บริเวณใกล้ๆ กับรูปปั้นจะเห็นบ่อน้ำเก่าแก่ มีความลึกประมาณ 7- 8 ม. กว้าง 1.50 ม. บ่อน้ำนี้จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ที่วัด ซึ่งสมัยก่อนที่ยังไม่มีไฟฟ้า มีเครื่องปั๊มน้ำขึ้นไป ต้องเดินด้วยเท้าจากวัดลงมาตักน้ำไปใช้ก็ร่วมๆ 1 กม.
ต่อมามีการสร้างศาลาคลุมบ่อน้ำ สร้างที่พัก สำหรับชาวบ้านและผู้ที่มาเที่ยวบริเวณนี้ เป็นวัดที่มีสภาพธรรมชาติแวดล้อม เป็นป่าสมบูรณ์ชิดเมือง มีความวิเวกสันโดษเหมาะในการปฏิบัติธรรม เอกลักษณ์ และความแปลกของ พระประธานในวิหารวัดเก่าแก่กว่า 700 ปี เกิดคำถามที่ตามมาคือเหตุใดผู้คนในยุคนั้นถึงได้สร้างพระประธานให้หันหลัง
มีการอธิบายจากหน่วยงานด้านศิลปากรที่ไปสำรวจว่า พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยเชียงแสนยุคต้นโยนกนคร รวมถึงแท่นผาหินก้อนใหญ่ ยังคงรอการสืบค้น ก็ยังชวนฉงนเป็นอีก ตำนาน “พระบิ่นหลังต๋ำ(ภาษาเหนือ)” แปลเป็นไทย ก็คือ พระนั่งหันหลัง หากเข้ายังประตูด้านหน้า จะเห็นพระประธานนั่งหันหลังให้ ที่ไม่เคยพบเห็น ได้ที่วัดแห่งใดในล้านนา
ทั้งนี้ระยะทางจากถนนชุมชน คั่นระหว่างสถานีประมงน้ำจืดเชียงใหม่ กับพิพิธภัณฑ์เกษตร แม่โจ้ ถึงวัด ผ่านห้วยน้ำโจ้ ผ่านป่าบ้านโปง ถึงวัดราวๆ 12 กม. ไม่ยากเกินแรงศรัทธา ถ้าตั้งใจจะไปสัมผัส “อันซีนความมหัศจรรย์ที่วัดดอยแท่นพระผาหลวง” ด้านหลัง ม.แม่โจ้ เชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น