เผยโฉมแชมป์นักเล่านิทานน้อย “ดวงดาวแห่งเอเชีย”เรียกเสียงเชียร์กระหึ่มกลางงานมหกรรมวิทย์ 62

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดแข่งขันนักเล่านิทานน้อย “ดวงดาวแห่งเอเชีย” รอบชิงชนะเลิศ ดึงเยาวชนระดับประถมศึกษา จากทั่วประเทศ ร่วมประชันความสามารถกลางงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2562 ท่ามกลางผู้ชมเนืองแน่น เรียกเสียงเชียร์กระหึ่มฮอลล์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา หวังต่อยอดความสนใจ สร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ เยาวชน นักเรียน นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปให้สนใจดาราศาสตร์กันมากขึ้น
สำหรับผลการตัดสินเป็นดังนี้
ระดับประถมศึกษาตอนต้น
รางวัลชนะเลิศ – ทีมดาวลูกไก่ โรงเรียนสว่างบริบูรณ์วิทยา จ.ชลบุรี นิทานเรื่องกระจุกดาวลูกไก่
รองชนะเลิศอันดับ 1 – ทีมน้องฟ้าอุ้มนักเล่านิทานน้อย โรงเรียนสฤษดิเดช จ.จันทบุรี นิทานเรื่องกลุ่มดาวจระเข้
รองชนะเลิศอันดับ 2 – ทีมดาวตามฝัน โรงเรียนมารีย์วิทยา จ.นครราชสีมา นิทานเรื่องกลุ่มดาวจระเข้
ชมเชย
– ทีม พ.ว. สร้างฝัน โรงเรียนเพชรผดุงเวียงไชย จ.สุราษฎร์ธานี นิทานเรื่องกระจุกดาวลูกไก่
– ทีม Libra Star โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง จ.ลำปาง นิทานเรื่องกระจุกดาวลูกไก่
ระดับประถมศึกษาตอนปลาย
รางวัลชนะเลิศ – ทีม VCS โรงเรียนวารีเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นิทานเรื่องกระจุกดาวลูกไก่
รองชนะเลิศอันดับ 1 – ทีมฤทธิยะสตาร์ โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย กรุงเทพมหานคร นิทานเรื่องกระจุกดาวลูกไก่
รองชนะเลิศอันดับ 2 – ทีม Varee Young Scientist Club โรงเรียนวารีเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นิทานเรื่องกลุ่มดาวจระเข้
ชมเชย
– ทีมอัญพรหยกรัศมี โรงเรียนวิชูทิศ จ.นนทบุรี นิทานเรื่องกระจุกดาวลูกไก่
– ทีม Milky Way โรงเรียนเทพนารี จ.แพร่ นิทานเรื่องตำนานทางช้างเผือก
ทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศจะได้เข้ารับพระราชทานถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2563 ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และยังได้รับโล่รางวัล ทุนการศึกษา 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับโล่รางวัล ทุนการศึกษา 3,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับโล่รางวัล ทุนการศึกษา 2,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รางวัลชมเชย ได้รับ ทุนการศึกษา 1,500 บาท พร้อมเกียรติบัตร
รศ. บุญรักษา สุนทรธรรม ที่ปรึกษากลุ่มวิจัยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ กล่าวว่า สดร. จัดการแข่งขันนักเล่านิทานน้อย “ดวงดาวแห่งเอเชีย” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 10 ปี สดร. และมุ่งหวังสร้างแรงบันดาลใจใฝ่รู้ดาราศาสตร์ กระตุ้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ แสดงศักยภาพด้านการสื่อสาร ก่อให้เกิดความสนใจด้านดาราศาสตร์ในวงกว้างยิ่งขึ้น การแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ระดับประถมศึกษาตอนต้น และระดับประถมศึกษาตอนปลาย เปิดรับผลงานในช่องทางออนไลน์จากเยาวชนทั่วประเทศ นำมาคัดเลือกผู้ผ่านเข้ารอบ ประเภทละ 5 ทีม รวมทั้งหมด 10 ทีม และทำการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ เวทีกลาง งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2562 อิมแพ็ค เมืองทองธานี
สำหรับคณะกรรมการตัดสินรอบชิงชนะเลิศ ได้แก่ รศ. บุญรักษา สุนทรธรรม ที่ปรึกษากลุ่มวิจัยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และหนึ่งในผู้เรียบเรียงนิทาน “ดวงดาวแห่งเอเชีย” นางกรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ นางสาวจุลลดา ขาวสะอาด ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ และนางสาวชนัญญา เตชจักรเสมา นักเล่าเรื่องเจ้าของแชนแนลชื่อดัง Point of View
รศ. บุญรักษา กล่าวเพิ่มเติมว่า นิทานที่กำหนดให้เยาวชนใช้เล่าในการแข่งขัน โดยเลือกจากนิทาน 4 เรื่อง ได้แก่ กลุ่มดาวจระเข้ กลุ่มดาวคานสามตา กระจุกดาวลูกไก่ และตำนานทางช้างเผือก ซึ่งแต่ละเรื่องมีเนื้อหาที่ค่อนข้างยาว แต่เยาวชนที่เข้าแข่งขันทุกทีมล้วนมีความเข้าใจในเรื่องที่ตนเองเล่า สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้เป็นอย่างดี ไม่ใช่การท่องจำเนื้อเรื่องแล้วนำมาเล่าเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเพิ่มข้อมูลใส่ลูกเล่นขณะเล่าเรื่องได้ แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในเรื่องดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ สดร. มุ่งหวัง อีกทั้งแต่ละคนยังมีความสร้างสรรค์ในการนำเสนอที่โดดเด่นแตกต่างกันไป เป็นที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง
ในการแข่งขันครั้งนี้ นอกจากเยาวชนที่ผ่านเข้ารอบจะได้โชว์ความคิดสร้างสรรค์และความสามารถด้านการสื่อสารกันอย่างเต็มที่ พร้อมถ่ายทอดนิทาน “ดวงดาวแห่งเอเชีย” ที่ตนเองเลือก ควบคู่ข้อคิดและความเชื่อจากนิทานในแนวทางของตนเองได้อย่างน่าสนใจแล้ว ยังสร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้รับชมเป็นอย่างยิ่ง หวังว่าเยาวชนทั้งผู้เข้าแข่งขัน และผู้ที่มาร่วมรับฟังในวันนี้ จะได้แรงบันดาลใจซึ่งนำไปสู่ความใฝ่รู้ด้านดาราศาสตร์ต่อไป รศ. บุญรักษา กล่าวปิดท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น