“โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออกสู่ต่างประเทศ”

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 เวลา 12.00 น.ห้องบอลลูม โรงแรมกรีนเลควิว รีสอร์ท จังหวัดน่าน กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 โดยอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สรุปความสำเร็จ “โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออกสู่ต่างประเทศ” ซึ่งประกอบไปด้วย 4 กิจกรรมหลัก คือ 1) การรวมกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออก 2) การพัฒนาเครื่องประดับและผ้าทอล้านนาตะวันออกสู่อุตสาหกรรมแฟชั่น 3) การสร้างนักออกแบบอุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออก 4) การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าแฟชั่นล้านนาตะวันออก พร้อมแฟชั่นโชว์ สุดพิเศษจากนักแสดงชื่อดัง “ซูซี่ – สุษิรา แน่นหนา” และนิทรรศการรวมกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออก ผลักดันผู้ประกอบการและนักออกแบบให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่อยอดไปจนถึงระดับสากล ตอบโจทย์การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ต่อไป

นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า ผมขอแสดงความชื่นชมกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญและดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออกสู่ต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเครื่องประดับและผ้าทอกลุ่มล้านนาตะวันออกในการรวมกลุ่ม คลัสเตอร์ให้มีความเข้มแข็ง การเรียนรู้การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับนักออกแบบที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้มีความหลากหลาย โดยนำวัฒนธรรมและประเพณีที่ทรงคุณค่าในวิถีชีวิตมาสู่การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ เมื่อนำมาผสมผสานประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งเพิ่มการออกแบบตามเทรนด์ของตลาด และพัฒนาสินค้าให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าและนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ มั่นใจว่าผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่ได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับจากโครงการนี้ มาใช้ร่วมกับแผนการดำเนินธุรกิจ จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ได้พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างรายได้ ให้เพิ่มมากขึ้น พึ่งพาตนเองได้ สามารถตอบโจทย์การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 นำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่อย่างยั่งยืนแน่นอน

นายสำเริง สวัสดีนฤนาท อุตสาหกรรมจังหวัดน่าน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมา เป็นการทำงานร่วมกันของอุตสาหกรรมจังหวัด 4 จังหวัด คือ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน หรือ กลุ่มล้านนาตะวันออก โดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอรับเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออกให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ และผ้าทอให้มีรูปแบบที่หลากหลาย แต่มีความเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มล้านนาตะวันออก พร้อมประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ประกอบด้วย 4 กิจกรรม ได้แก่ 1) การรวมกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออก 2) การพัฒนาเครื่องประดับและผ้าทอล้านนาตะวันออกสู่อุตสาหกรรมแฟชั่น 3) การสร้างนักออกแบบอุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออก 4) การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าแฟชั่นล้านนาตะวันออก
สำหรับกิจกรรมในวันนี้เป็นการจัดสัมมนาสรุปโครงการและจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องประดับและผ้าทอล้านนาตะวันออกอย่างยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การเสวนาเรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องประดับและผ้าทอล้านนาตะวันออกอย่างยั่งยืน การจัดแสดงผลงานต้นแบบเครื่องประดับและผ้าทอล้านนาตะวันออก การมอบรางวัลให้กับนักออกแบบ รุ่นใหม่ที่มีผลงานโดดเด่น การแสดงผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นล้านนาตะวันออกในงานประกวด และแฟชั่นโชว์สุดพิเศษจากนักแสดงชื่อดัง ซูซี่ – สุษิรา แน่นหนา รวมทั้งนิทรรศการการรวมกลุ่ม คลัสเตอร์อุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออก
ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวเสริมว่า สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนาตะวันออกสู่ต่างประเทศ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยสถาบันฯ มุ่งให้การสนับสนุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และการออกแบบ ภายใต้กรอบแนวคิดการดำเนินการ สืบสาน สร้างสรรค์ สู่สากล ยกระดับแนวคิดการออกแบบการผลิตจาก Local สู่ Global มั่นใจโครงการนี้ สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยสู่ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น มีมูลค่า มีความแตกต่าง มีความหลากหลาย แต่คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดทุกระดับและสู่สากล ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนไทยอย่างยั่งยืน
ผลการประกวดผลิตภัณฑ์ ผู้ได้รับรางวัล 5 ท่าน
รางวัลชนะเลิศ
นายณัฐพงศ์ ดีบุญ
ชื่อผลงาน สายน้ำแห่งศรัทธา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ1
นายเขมราช ขอร้อง
ชื่อผลงาน IU MIEN
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ2
นางสาวศรีสุดา โวทาน
ชื่อผลงาน Sway
รางวัลชมเชย
1. นายสิทธิชัย อินทกาสุน
ชื่อผลงาน Color of Doi Tung
2. นายภาสกร แสงด้วง ข้ามสาม
ชื่อผลงาน NAM YOM (น้ำยม)
จากการดำเนินโครงการในครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ สร้างเครือข่าย สร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ และมีผลิตภัณฑ์ต้นแบบในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 หรือล้านนาตะวันออก ได้แก่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน พร้อมออกสู่ตลาดแฟชั่น ตลาดนักช้อป และตลาดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ช่วยสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น นำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่อย่างยั่งยืน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ www.facebook.com/Elfc2019

ร่วมแสดงความคิดเห็น