กลุ่มคน “ไต” แห่งลุ่มน้ำโขง

ดินแดนแห่งลุ่มแม่น้ำโขง ช่วงระหว่างประเทศไทย ประเทศสหภาพพม่า ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันในเชิงสังคม วัฒนธรรมมาตั้งแต่อดีตกาล บริเวณแห่งนี้เป็นที่กำเนิดของอาณาจักรใหญ่น้อย มีนครรัฐมากมาย มีความหลากหลายทางนิเวศวิทยา ด้วยความสัมพันธ์หลายรูปแบบ ทั้งความกลมกลืนทางด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี การปกครอง และภูมิปัญญา ดินแดนแห่งนี้จึงเป็นแหล่งอารยธรรมที่หลากหลายและสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
โดยเฉพาะเหล่าชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในดินแดนลุ่มน้ำโขงที่ประกอบด้วย อาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรขอม กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เป็นผู้สร้างสรรค์ศิลปะ และวัฒนธรรมต่าง ๆ อย่างสืบเนื่องยาวนาน กลุ่มคนเหล่านี้ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ “ไต” อันได้แก่ ไตยวน ไตลาว ไตใหญ่ ไตเขิน ไตลื้อ ไตดำ ไตแดง เป็นหลัก รวมถึงกลุ่มคนมอญ เขมร จีน และชนเผ่าต่าง ๆ
กลุ่มชาติพันธุ์ไตเหล่านี้ก็สามารถแยกแยะได้ด้วยภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ทั้งหลายยังคงสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
สังคมวัฒนธรรมในกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ส่วนใหญ่มีพัฒนาการมาจากรัฐในหุบเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงมีที่ราบแทรกอยู่เล็กน้อย และกระจัดกระจายอยู่ตามแอ่งต่าง ๆ ของหุบเขา ลักษณะเช่นนี้ จึงเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดนครรัฐที่แยกตัวกันอยู่ แต่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างนครรัฐ เพื่อพัฒนาไปสู่อาณาจักรใหญ่ แต่ถึงกระนั้นก็มีนครรัฐบางแห่ง สามารถพัฒนาตนเองให้เป็นอาณาจักรได้ เช่น อาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง ในขณะที่หัวเมืองต่าง ๆ ตอนบนของทั้งสองอาณาจักร ได้แก่ เชียงตุง เชียงรุ่ง รวมทั้งเมืองอื่น ๆ ไม่สามารถรวบรวมหัวเมืองน้อยใหญ่พัฒนาให้เป็นอาณาจักรได้
กลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำโขง ปัจจุบันสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่ก่อกำเนิดอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ ทว่าท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงและโลกาภิวัฒน์ รวมทั้งการแบ่งเขตรัฐชาติต่าง ๆ ในดินแดนแถบลุ่มน้ำโขง และกระแสความผกผันทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ทำให้วิวัฒนาการทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ไม่เด่นชัดและอ่อนด้อยลงไป ความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ถูกปิดกั้นด้วยอำนาจรัฐและลัทธิทางการเมือง ถึงแม้ว่าปัจจุบันความเป็นรัฐชาติและอาณาจักรจะสูญสิ้นไปไม่ต่ำกว่าร้อยปีแล้วก็ตาม ในกลุ่มชนต่าง ๆ ก็ยังมีผู้คนบางคนและบางชุมชนที่สามารถดำรงอัตตาลักษณ์ของตนเองและยังสืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเอาไว้ได้อย่างเข้มแข็ง
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น