“เจ้านางนั่งเมือง” วัฒนธรรมยุคจามเทวีสู่วิถีล้านนา

แคว้นหริภุญชัย จากการสืบค้นเรื่องราว หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่มีการบันทึกในตำนานต่างๆ อาทิ จามเทวีวงศ์ ,ชินกาลมาลีปกรณ์ ตลอดจนการศึกษาด้านโบราณคดี พบว่าน่าจะมีอายุช่วง พ.ศ.1202-1824 กว่า 1,360 ปี ล่วงเลยมา
เคยเป็นศูนย์กลางความเจริญในดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำปิง ใกล้ๆดอยสุเทพ เป็นแนวยาวจรดนครลำพูน และส่วนหนึ่งในลุ่มแม่น้ำวัง ลำปาง และเมืองแพร่บางพื้นที่ มีปฐมกษัตรีคือ “พระนางเจ้าจามเทวี ” เฉลิมพระนามในพระสุพรรณบัฎว่า “เจ้าหญิงจามเทวี ศรีสุริยวงศ์ บรมราชขัตติยนารี รัตนกัญญา ลวะปุรีราเมศวร” บางบันทึก และหลายๆตำนานระบุว่า” พระแม่เจ้าจามเทวี บรมราชนารีศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญชัย” ก็มีจารึกตามราชานุสาวรีย์ ส่วนหนึ่งกล่าวถึง “หญิงวี” ที่มี”ฤาษีวาสุเทพ”แห่งดอยสุเทพได้ชุบเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาถูกส่งตัวไปเป็นธิดาบุญธรรมพระเจ้านพรัตน์ แห่งกรุงละโว้
เมื่อผู้มีฤทธานุภาพ ได้เสกสร้างบุรพนครร้าง จนกลายเป็น “หริภุญชัยนคร “ช่วง พ.ศ.1200 ได้ทูลเชิญ พระนางมาปกครองอาณาจักรแห่งนี้ ในอีก 2 ปีต่อมา ทรงครองราชย์ กว่า 17 ปี ตราบสิ้นพระชนม์
มี”พระยาญีบา” เป็นกษัตริย์องค์สุดท้าย ก่อนจะเสียเอกราช แก่พระเจ้ามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งแผ่นดินล้านนา ราชวงศ์มังราย ในอีก 622 ปีต่อมา
คุณานุปการ จากข้อสังเกตุของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมถึงนักวิชาการหลายๆท่าน แม้กระทั่ง อ.
รัชนีบูลย์ เกริกไกวัล ซึ่งสนใจติดตามศึกษา เกี่ยวกับตำนานจามเทวีวงศ์, บริบททางสังคมของหริภุญชัยนคร ความเปลี่ยนแปลงในด้านสังคมและวัฒนธรรม ครั้งพระนางเสด็จขึ้นครองหริภุญชัยนคร ในตำนานมูลศาสนา กล่าวถึงการนำคณะสงฆ์ นักปราชญ์ราชบัณฑิต ช่างฝีมือที่มีศาสตร์ศิลป์เป็นเลิศเกือบทุกด้านมาด้วย พร้อมรูปแบบพระพุทธศาสนาคติหินยาน การมีสถาบันกษัตริย์ แถบถิ่นราบลุ่มภาคกลางมาใช้ในบ้านเมือง ผสมผสานกับวิทยาการจากบรรดาผู้รู้ระดับปราชญ์ มาช่วยถ่ายทอดสู่ไพร่ฟ้าหลายๆวิถีถิ่น มีการปฏิบัติสืบมา กลายเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยในท้องถิ่นจนถึงปัจจุบัน ทั้งอักขระล้านนา เป็นการดัดแปลงอักษรฝักขามและอักษรขอม ยังคงมีใช้ในการจารจารึกใบลานล้านนา กระทั่งข้อความ ประกาศต่างๆในท้องถิ่น
กระทั่งการเรียกนามปี 12 ราศี อาทิ ปีไจ้ (ชวด ) ปีเป้า(ฉลู ) ครบทุกปีนักษัตร ,หม้อต่อม ซึ่งมีช่างชาวจีนเดินทางมาด้วยได้สอนชาวบ้าน ใช้เป็นภาชนะใส่น้ำ ,น้ำมนต์ และภาชนะรูปทรงอื่นๆใช้ในชีวิตประจำวันทรงสร้างศาสนาสถานตลอดพระชนม์ชีพกว่า 2,500 แห่ง ที่หลงเหลือปรากฎให้เห็นก็เช่น วัดมหาวัน ,วัดจามเทวี, กู่ช้าง กู่ม้า เวียงท่ากาน,เวียงมโน เวียงเถาะ และอีกหลายๆสถานที่ตามเรื่องเล่าพื้นถิ่น และตำนาน ตามจังหวัดต่างๆ อาทิ เมืองฮอด, พระธาตุดอยน้อย เชียงใหม่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามระบบความเชื่อ ความศรัทธา ของลัทธิตันตระ ทั้งพระรอด,พระเปิม พระคง พระลือ พระสิบสอง โดยพระเครื่องเหล่านี้ ถือเป็นสุดยอดวัตถุมงคล จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เฉพาะพระรอดที่สร้างในรัชสมัย ในแง่มูลค่า บางองค์มากกว่า 10 ล้าน แต่ในเชิงพุทธพาณิชย์ เกี่ยวกับพระเครื่องเมืองลำพูน แบบฉบับ หริภุญชัยนคร สร้างรายได้ ต่อเนื่องในระบบตลาดไม่น้อยเช่นกัน
อิทธิพลยุคพระนางนั่งเมืองยังมีรูปแบบประเพณี พิธีกรรม ที่สืบทอด ปฏิบัติมาจนถึงวันนี้ อาทิ พิธีขึ้นท้าวทั้ง 4 อันกอร์ปด้วย ท้าวกุเวร ท้าววิรูปักข์ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก พระอินทร์ พระแม่ธรณี การสักการะ บวงสรวง เพื่อป้องภัย มิให้มีอุปสรรคใดๆขวางกั้น รวมทั้งประเพณีการเผาศพที่ไม่นิยมเผาในวัด ,การสร้างปราสาทให้ผู้วายชนม์, พิธีปัดเคราะห์ ส่งแทนการเรียกขวัญ ซึ่งเป็นวิถีวัฒนธรรมจากภาคกลาง ที่มาแพร่หลายในแผ่นดินล้านนา ปักตรึงแน่นคู่สังคมท้องถิ่น ภาคเหนือจากรุ่นสู่รุ่น
เหนือสิ่งอื่นใด แนวปฏิบัติ ในหลักนักปกครองที่ยังเป็นแบบประยุกต์ใช้ร่วมสมัย ปัจจุบันที่ทรงเป็นต้นแบบนำหลักธรรมะ หลักพระพุทธสาสนา มาใช้ในการครองคน การจัดระบบปกครอง การส่งเสริมอาชีพให้ราษฎร ทั้งด้านทอผ้า การเกษตร และใช้วัดเป็นศูนย์ร่วมเผยแพร่ วิทยาการ เพื่อเรียนรู้สู่การลงมือทำ
อาจเป็นแง่มุมที่นักวิชาการท้องถิ่น นักประวัติศาสตร์ในพื้นที่ บอกเล่า ถ่ายทอดด้วยเจตคตินิยม ผสม
ผสานอิทธิพล ความเชื่อ ความศรัทธาที่มีต่อ พระนางจามเทวี เป็นพื้นฐานอีกด้านพระบารมีแผ่ไพศาลแห่งองค์ปฐมกษัตรีย์ “พระนางจามเทวี” ได่ก่อเกิดประเพณีนิยมกับการสักการะบวงสรวง ผ่านรูปแบบพิธี “พระนางนั่งเมือง” สำหรับปีนี้ จ.ลำพูน กำหนดจัดขึ้น ในวันพุธที่ 4 ธันวาคม 2562 บริเวณ ลานราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวี นครลำพูน อย่างยิ่งใหญ่จากความร่วมมือของหลายๆภาคส่วน

ร่วมแสดงความคิดเห็น