ขุนกัน ชนะนนท์ คหบดีผู้ใจบุญของเมืองเชียงใหม่

หากจะเอ่ยชื่อของคหบดีผู้ทำประโยชน์ให้กับเมืองเชียงใหม่ นอกเหนือจากหลวงอนุสารสุนทรแล้ว ชื่อของขุนกัน ชนะนนท์ ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่สร้างคุณูปการให้กับเมืองเชียงใหม่มากมาย ทั้งในฐานะของคหบดีที่มีบทบาทต่อการค้าเมืองเชียงใหม่ ทั้งในฐานะของผู้ที่สร้างสนามบินเชียงใหม่ และในฐานะของผู้มีแรงใจศรัทธาต่อพุทธศาสนา

ชื่อของขุนกัน ชนะนนท์ เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในสมัยนั้นเมื่อท่านเป็นผู้สร้างสนามบินเชียงใหม่ให้แก่ทางราชการด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว และเมื่อมีพิธีเปิดสนามบิน สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้เสด็จทรงเปิดงาน นอกจากนั้นท่านยังได้สร้างตึกบังคับการค่ายกาวิละอีกด้วย
ในการสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ เมื่อปี พ.ศ.2478 ขุนกัน ชนะนนท์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลถนนช่วงสุดท้ายก่อนถึงพระธาตุดอยสุเทพ ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มีศรัทธาต่อพระศาสนาและครูบาเจ้าศรีวิชัยอยู่แล้ว ท่านจึงได้รับอาสาและสร้างถนนช่วงนี้ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวทั้งหมด ซึ่งผลที่สุดด้วยแรงศรัทธาอันแกร่งกล้าและกำลังใจสนับสนุนจากครูบาเจ้านี่เอง จึงทำให้ถนนช่วงนั้นสำเร็จลุล่วงและครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงได้ตั้งชื่อโค้งนี้ว่า “โค้งขุนกัน”
ขุนกัน ชนะนนท์ เป็นบุตรของจะเลวุณณะและนางอิ่ง เกิดที่บ้านหมอกใหม่ ในแคว้นเชียงตุง เมื่อท่านยังเล็กได้อพยพตามบิดามารดาและญาติ ๆ มาตั้งหลักแหล่งที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ช่วงชีวิตที่ท่านเป็นหนุ่มได้ทำมาค้าขายระหว่างเชียงใหม่กับแม่ฮ่องสอน โดยใช้การเดินเท้าบรรทุกม้าต่างวัวต่าง รับสินค้า ยา – ผ้าไหม จากพม่า แม่ฮ่องสอนมาขายที่เชียงใหม่และนำสินค้าจากเชียงใหม่กลับไปขายที่แม่ฮ่องสอน ท่านใช้เวลารอนแรมไปกลับนานนับเป็นเดือน ๆ ช่วงเวลานั้นท่านได้มาพบปะคุ้นเคยกับแม่วันดี ซึ่งเป็นบุตรีของพญานาวากับแม่อินหวันแม่วันดีเมื่อท่านยังสาว สมัยก่อนสาว ๆ จะต้องอยู่กับเหย้าเฝ้าเรือน ต้องปั่นด้ายและทอผ้าด้วยหูกมือ (กี่ทอผ้าโบราณล้านนา) พร้อมกับน้าบุญปั๋น ลูกสาวของท้าวปันเพื่อนบ้านใกล้เคียง พ่อพญา เห็นหน่วยก้านหนุ่มไทยใหญ่เป็นคนเอาการเอางานขยันขันแข็ง

จึงอนุญาตให้จัดการแต่งงานกับแม่วันดี ขณะที่ท่านยังเป็น “ส่างกะณะ” ให้อาศัยอยู่ร่วมกันที่บ้านวังสิงห์คำด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งปวงครอบครัวหนุ่มสาวที่พญานาวาสนับสนุนทุกวิถีทาง ทำให้กิจการค้าขายเจริญรุ่งเรืองเป็นที่รู้จักมักคุ้นของเจ้านายและพ่อค้าวานิชขึ้นเป็นลำดับ ทั้งสองท่านยึดมั่นในคุณธรรมและกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ต่อประเทศชาติและศาสนา บุคคลที่พ่อขุนกัน แม่วันดี ชนะนนท์สอนให้ลูกหลานเคารพนับถือ เมื่อถึงประเพณีสงกรานต์ก็ต้องไปกราบไหว้รดน้ำดำหัวก็คือ คุณยายสุ่น กิติบุตร
เมื่อการค้าเจริญรุ่งเรืองชีวิตความเป็นอยู่สุขสบายขึ้น พ่อขุนกัน ก็ได้เริ่มเล็งเห็นความทุกข์ยากลำบากของประชาชนและท่านยังได้อุทิศแรงกาย แรงใจช่วยเหลืองานสังคมมากมาย โดยเฉพาะในด้านศาสนา ท่านได้อบรมชักจูงสั่งสอนบรรดาลูกหลานให้ยึดมั่นในศีลธรรม คุณธรรม เป็นหลักประจำใจ พ่อขุนกันและแม่วันดี ชนะนนท์ ได้แสดงเจตนาในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ดังเช่นท่านได้ขอพระราชทานที่ดินจากเจ้าอินทรวโรรสสุริยวงศ์ สร้างเป็นสำนักสงฆ์วัดป่าแพ่งขึ้นในปี พ.ศ.2440 และได้ไปอาราธนานิมนต์พระภิกษุจากวัดชมพูชื่อครูบาขาว มาเป็นเจ้าอาวาสสำนักสงฆ์คนแรก
ปี พ.ศ.2494 พ่อขุนกันแม่วันดี ชนะนนท์ได้ทำการทอดกฐินที่วัดสวนดอกและได้ถวายเงินในฐานะผู้ริเริ่มมูลนิธิวัดพระสิงห์และวัดสวนดอก 2,000 บาทในขณะนั้นด้วย นอกจากนั้นท่านยังเกื้อหนุนทำนุบำรุงวัดต้นขาม อำเภอแม่ริมมาโดยตลอดขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ด้วยความที่ขุนกัน ชนะนนท์ เป็นผู้สร้างคุณูปการ ทั้งทางการค้า ศาสนาและการกุศลให้กับเมืองเชียงใหม่มากมาย จนกระทั่งท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น “ขุนกันชนะนนถี” และเป็นต้นตระกูล “ชนะนนท์” มาจนปัจจุบัน.
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น