ภาพเก่า “การประกวดนางงาม งานฤดูหนาวเชียงใหม่”

งานฤดูหนาวจังหวัดเชียงใหม่ จัดขึ้นมาไม่น้อยกว่า 80 ปี โดยจัดครั้งแรกที่บริเวณสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ มีการออกร้านแสดงผลงานของหน่วยงานราชการ และเอกชนรวมทั้งการการแสดงมหรสพต่าง ๆ มากมาย งานฤดูหนาวสมัยนั้นจัดประมาณปลายเดือนธันวาคมไปจนถึงปีใหม่ ร้านค้าต่าง ๆ ในเชียงใหม่ก็จะมาออกร้านโฆษณาสินค้าของตนเอง
โดยมีการสร้างร้านจำหน่ายสินค้าใหญ่โต บางร้านที่จำหน่ายรถยนต์ก็จะนำรถยนต์รุ่นใหม่ มาโชว์ในร้านค้าดึงดูดให้คนสนใจเข้ามาเชียงใหม่ ส่วนร้านที่เป็นของราชการก็จะแสดงผลงาน เช่น ร้านของสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ (ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยแม่โจ้) ก็จะนำผลงานด้านการเกษตรมาแสดง ร้านค้าของเอกชนต่าง ๆ ก็มาออกร้านแสดงสินค้า เท่าที่เห็นสมัยนั้นไม่ต่ำกว่า 20 ร้าน ตั้งเรียงรายรอบสนามฟุตบอล
ร้านค้าที่มาออกร้านมีมากมายหลายร้าน ทั้งร้านที่เป็นของคนเชียงใหม่เอง เช่น ร้านตันตราภัณฑ์ ร้านบริษัทนิยมพานิช นำรถยนต์โตโยต้ารุ่นใหม่มาแสดง ร้านโรงงานสุราเชียงใหม่ จำหน่ายสุราตราม้าขาว ให้ผู้มาเที่ยวงานทดลองดื่มในราคาเป๊กละ 1 บาท เป็นต้น และยังมีร้านจำหน่ายสินค้าที่มาจากกรุงเทพ เช่น จักรเย็บผ้าซิงเกอร์ ผงซักฟองบรีส น้ำมันเอสโซ่ เป็นต้นงานฤดูหนาวเชียงใหม่ นอกจากจะมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าของหน่วยงานราชการและเอกชนแล้ว ในงานยังมีการแสดงมหรสพต่าง ๆ เช่น การฉายภาพยนตร์กลางแปลง การแสดงของคณะกายกรรม การแสดงรถไต่ถัง ส่วนกลางคืนยังมีการประกวดนางงามเชียงใหม่ ซึ่งมีหน่วยงานราชการต่าง ๆ ส่งสาวงามเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก สาวงามที่เข้าประกวดนางงามเชียงใหม่ในอดีตนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนท้องถิ่น รางวัลชนะเลิศนางงามเชียงใหม่นั้นได้แก่มงกุฎสายสะพาย พร้อมด้วยสลุงดอกไม้ นอกจากนั้นยังมีรางวัลอื่น ๆ มอบให้อีก เช่น รถจักรยานราเลย์ จักรเย็บผ้าซิงเกอร์ รวมทั้งเงินรางวัลอีกจำนวนหนึ่ง เป็นต้น
นางงามเชียงใหม่ที่ชนะเลิศพร้อมกับตำแหน่งรองอีก 2 คน จะได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมประกวดนางสาวไทยที่กรุงเทพฯตอนหลังได้เปลี่ยนเป็นการประกวดนางสาวสยาม ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นการประกวดนางสาวไทย ในเวลาต่อมา (การประกวดนางงามของเชียงใหม่สมัยก่อน จะมีการประกวดอยู่ 2 งาน คือ การประกวดนางสาวถิ่นไทยงาม มีตัวแทนสาวงามจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ เข้าประกวดและการประกวดนางสาวเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นเฉพาะในงานฤดูหนาวจะต้องเป็นผู้ที่เกิดในเชียงใหม่เท่านั้น) นางงามเชียงใหม่ได้เข้าร่วมประกวดในเวทีนี้ที่มีชื่อเสียงได้ นวลสวาท ลังกาพินธุ์ ซึ่งได้รับตำแหน่งรองอันดับ 1 นางสาวไทยในปี พ.ศ. 2496
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น