เสน่ห์อารยวัฒนธรรมผ่านภาพยนตร์ละครโทรทัศน์ ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวยุคไทยแลนด์ 4.0

ผู้ช่วยศาสตราจารย์บงกช สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ นำเสนอบทความวิชาการเรื่อง “เสน่ห์อารยวัฒนธรรมผ่านภาพยนตร์ละครโทรทัศน์ ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวยุคไทยแลนด์ 4.0” ในงานประชุมวิชาการระดับชาติด้านการท่องเที่ยวกับมนุษยศาสตร์ ครั้งที่ 1 วันที่ 19 ธันวาคม 2562 การท่องเที่ยวกับมนุษยศาสตร์ : การท่องเที่ยวในยุคเปลี่ยนผ่าน ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว เชียงใหม่
ผศ.บงกช กล่าวว่า แนวโน้มการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวภายนอกประเทศและภายในประเทศ พบว่า ประเทศไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจีน ก็เป็นผลมาจากภาพยนตร์จีนเรื่อง Lost in Thailand หนังตลกแนวผจญภัยที่ถ่ายทำในเมืองไทย นอกจากทำรายได้เป็นจำนวนมากแล้ว ยังทำให้คนจีนเดินทางมาท่องเที่ยวแบบทัวร์ตามรอยภาพยนตร์เช่นกัน นอกจากนี้กระแสละครโทรทัศน์แนวประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ถูกนำเสนอเรื่องราวให้น่าติดตามแบบร่วมยุคร่วมสมัยกำลังเป็นที่นิยม และได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนทั้งประเทศ ช่วงเวลา 4 ปีพบว่า ละครโทรทัศน์ของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้แก่ เรื่อง “นาคี” (พ.ศ.2559) “บุพเพสันนิวาส” (พ.ศ.2561) และ “กลิ่นกาสะลอง” (พ.ศ.2562) สามารถสร้างกระแสท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร การแต่งกาย ภาษา ประเพณี ฯลฯ ได้แก่ นักท่องเที่ยวนิยมแต่งชุดไทย ชุดพื้นเมือง ชุดล้านนา ไปถ่ายรูปตามสถานที่จริงแบบตามรอยละคร ที่สำคัญคือ สร้างกระแสรักท้องถิ่น รักชาติ ภูมิใจในความเป็นไทย จึงเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างดี นั่นเป็นเพราะกระแสไวรัลทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีบทบาทมากในยุคไทยแลนด์ 4.0 ดังนั้นการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ตามรอยภาพยนตร์ หรือละครโทรทัศน์ จึงเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวที่ควรได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น กิจกรรมตามรอยละครกลิ่นกาสะลอง เป็นประโยชน์ต่อการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น และสร้างการรับรู้และตอกย้ำภาพลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การสื่อสาร และวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งในฉากหลักของละครดังกล่าว อาทิ วัดโลกโมฬี, วัดต้นเกว๋น, วัดเกตการาม และวัดเจ็ดยอด เป็นต้น นอกจากนี้ยังถูกนำไปสร้างกระแสเป็นประเด็นทางการเมือง เช่น โพสต์ทูเดย์นำเสนอข่าวว่า “ช่อ” พรรณิการ์ นำทีม ส.ส.อนาคตใหม่ จัดชุดกาสะลอง เฉิดโฉมประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ทั้งนี้ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ยังได้โพสต์ข้อความผ่านทวีตเตอร์ Pannika Wanich ระบุว่า “เพราะความเป็นไทยไม่ได้มีแค่แบบเดียว #อนาคตใหม่ อยากทำให้สภาเป็นภาพสะท้อนความหลากหลายทั้งทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม เราจะพยายามแต่งกายด้วยชุดที่หลากหลาย นำผ้าจากแต่ละภูมิภาคเข้ามาสู่สภา และยังเป็นการส่งเสริมสินค้าท้องถิ่น” (ข่าวการเมือง โพสต์ทูเดย์., 2562) กล่าวได้ว่า กระแสละครมีส่วนในการกระตุ้นข่าวสารและสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งทาง เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ไม่มากก็น้อย ดังนั้นภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย ที่ประกอบด้วยความหลากหลายของช่องทางสื่อและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงต้องยอมรับว่าช่องทางออนไลน์จะเป็นช่องทางที่ประชาชนจากทั่วทุกมุมโลกเปิดรับสื่อได้มากที่สุด เพราะมีความรวดเร็วและกระจายส่งต่อได้ในวงกว้างและทันทีทันใด จึงเหมาะสมที่สุดกับการนำเสนอภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ที่มุ่งเน้นการขายทุนทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ เพื่อนำไปสู่การท่องเที่ยวตามรอยละคร

ร่วมแสดงความคิดเห็น