วัดท่าพลูเหลือง วัดโบราณเมืองเชียงใหม่

คนเชียงใหม่น้อยคนนักจะรู้จัก ความเป็นมาของวัดท่ากระดาษ เนื่องจากเป็นวัดเล็ก ๆ ที่มีการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อไม่นาน ทว่าหากจะนับอายุการสร้างวัดนี้ ตำนานล้านนากล่าวว่า วัดท่ากระดาษสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา แต่เดิมชื่อ วัดท่าพลูเหลือง เนื่องจากอยู่ติดริมแม่น้ำปิงเวลายามเย็นแสงแดดจะส่องต้นพลูที่ปลูกอยู่ริมน้ำจนสีเหลืองอมร ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดท่ากระดาษ ตามอาชีพการทำกระดาษของชาวบ้านในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึงประวัติวัดท่ากระดาษไว้อย่างละเอียดว่า เมื่อพระเจ้ากือนาธรรมมิกราช กษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์มังราย เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.1943 บรรดาขุนนาง ข้าราชการ ได้อัญเชิญพ่อท้าวแสนเมืองมา ผู้เป็นพระราชโอรสขึ้นเสวยราชสมบัติแทน ก่อนที่จะมีพิธีราชาภิเษกนั้น เจ้าท้าวมหาพรหม ผู้เป็นอาซึ่งครองเมืองเชียงราย คิดการกบฏยกกองทัพจากเมืองเชียงรายมาแย่งชิงราชสมบัติ แต่ถูกกองทัพเชียงใหม่นำโดยขุนพลแสนผานองโจมตีจนพ่ายแพ้และหนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองวชิรปราการ (กำแพงเพชร) ต่อมาเจ้าท้าวมหาพรหมเกิดเรื่องกินใจกับเจ้าเมืองกำแพงเพชร จึงได้อพยพกลับมาเชียงใหม่และขอพระราชทานอภัยโทษ พระเจ้าแสนเมืองมาก็โปรดพระราชทานอภัยแล้วให้ไปครองเมืองเชียงรายตามเดิม
ในการกลับจากกำแพงเพชรครั้งนั้น เจ้าท้าวมหาพรหมได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาถวายพระเจ้าแสนเมืองมา พระพุทธสิหิงค์นั้น ตามตำนานสิงหนปฏิมา กล่าวว่า สร้างที่เมืองอนุราชสิงหน ประเทศศรีลังกา และพ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้แต่งทูตไปขอ พระเจ้าแสนเมืองมานำพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ไปประดิษฐานที่วัดลีเชียงพระ (วัดพระสิงห์) เจ้าท้าวมหาพรหมได้ยืมพระพุทธสิหิงค์ไปเป็นแม่พิมพ์หล่อจำลอง ณ เมืองเชียงราย เมื่อจำลองเสร็จแล้วได้อัญเชิญลงเรือกลับเชียงใหม่ทางลำน้ำกกและมาขึ้นท่าที่สบฝางกุสะนคร (เมืองฝาง) แล้วอัญเชิญประดิษฐานบนหลังช้างเดินทางต่อมาถึงเชียงดาว แล้วจึงอัญเชิญลงเรือมาตามแม่น้ำปิง มาถึงเชียงใหม่ที่ท่าน้ำเหนือเจดีย์งาม ต่อมาท่าน้ำที่นำพระพุทธสิหิงค์ขึ้นได้ชื่อว่า ท่าวังสิงห์คำขณะที่นำพระพุทธสิหิงค์ขึ้นจากท่าน้ำนั้นได้เกิดปาฎิหารย์ ท้องฟ้าที่สว่างไสวกลับมืดคลึ้มลงทันทีและแสงรัศมีจากองค์พระพุทธสิหิงค์พวยพุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลำแสงสีทองอร่ามตา มีความยาวประมาณสองพันวา
ต่อมาพระเจ้าแสนเมืองมาได้โปรดให้สร้างวัดขึ้นชื่อ วัดฟ้าฮ่าม เมื่อแสงรัศมีอันอร่ามตาของพระพุทธสิหิงค์สิ้นสุดลง ณ วัดฟ้าฮ่าม ประกายของรัศมีซึ่งทอดลงบริเวณ วัดท่าพลู ทำให้บริเวณดังกล่าวกลายเป็นสีเหลืองอ่อน กระทั่งใบพลูที่ชาวบ้านปลูกกันไว้ทุกครัวเรือนก็กลายสีจากสีเขียวเป็นสีเหลืองคล้ายพลูคำอย่างน่าอศจรรย์ ชาวบ้านจึงเรียกวัดท่าพลู เป็น วัดท่าพลูเหลือง ต่อมาเมื่อแม่น้ำปิงได้เปลี่ยนทิศทาง ทำให้สายน้ำไหลมากัดเซาะฝั่งวัดท่าพลูเหลืองพังทลายลง ชาวบ้านเห็นว่าจะเกิดความเสียหาย จึงได้ย้ายวัดไปตั้งทางทิศตะวันออกห่างจากวัดเดิมประมาณ 1 กิโลเมตร
หลังจากที่ย้ายวัดไปตั้งที่ใหม่แล้ว ชาวบ้านยังคงใช้ประโยชน์ของท่าน้ำแห่งนี้ มีพ่อค้าเรือแพหลายรายที่ล่องแพมาจอดเพื่อขนถ่ายสินค้าเป็นประจำ ต่อมามีการผลิตกระดาษสาในบริเวณบ้านท่าพลูเหลือง ชาวบ้านจึงเรียก ท่าพลูเหลือง เป็น ท่ากระดาษ และเรียกชื่อวัด ท่าพลูเหลือง เป็น วัดท่ากระดาษ ตามไปด้วยวัดท่ากระดาษ อยู่เป็นร่มเงาแก่ชาวพุทธบ้านท่ากระดาษมาเป็นเวลาหลายร้อยปี กระทั่งช่วงเวลาหนึ่งได้ถูกทิ้งให้ร้างไปเนื่องจากเกิดสงครามพม่า ในหนังสือเชียงใหม่ในมโนสำนึก เขียนโดยสุพิน ฤทธิ์เพ็ญ กล่าวถึงวัดท่ากระดาษตอนหนึ่งว่า ย้อนหลังไปเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2529 วัดท่ากระดาษค่อนข้างจะทรุดโทรม ทั้งภายในและนอกวัด มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า “วัดนี้ผีดุ” เวลาเย็นโพล้เพล้ หรือ ใกล้สว่าง ชาวบ้านที่เดินผ่านไปมาบริเวณต้นโพธิ์หัวมุมวัดมักจะเจอของดีให้ได้ขนลุกขนพองสยองเกล้า จนเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นราย ๆ
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น