ข้อหาเมาไม่ขับ เชียงใหม่ติดโผ ทุบสถิติทุกคดีช่วงปีใหม่นี้

กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เผยสถิติคดีเข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติทั่วประเทศล่าสุด (ยอด 6 วัน) ระหว่าง 27 ธันวาคม 2562 – 1 มกราคม 2563 มี 9,049 คดี จำแนกเป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 8,894 คดี คิดเป็นร้อยละ 98.29 คดีขับเสพ 140 คดี คิดเป็นร้อยละ 1.55คดีขับซิ่ง/ แข่งรถ 1 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.01คดีขับรถประมาท 14 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.15 โดยจังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมสูงสุดคือขอนแก่น 507 คดี  เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติ สะสม 6 วัน ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2562 กับปี63 พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา ปี พ.ศ. 2562 มี 6,123 คดี กับปี พ.ศ. 2563 มี 8,894 คดี เพิ่มขึ้นถึง 2,771 คดี คิดเป็น 45.26 %
กรมคุมประพฤติจะทำการตรวจสอบประวัติผู้กระทำผิดทุกราย หากพบกระทำผิดซ้ำในความผิดขับรถขณะเมาสุราจะดำเนินมาตรการเข้มโดยส่งเข้าค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อเนื่อง 3 วัน และให้ทำงานบริการสังคม อาทิ การดูแลผู้ป่วยติดเตียงในโรงพยาบาล การเยี่ยมชมห้องดับจิต นอกจากนี้ ยังเตรียมอีกหนึ่งมาตรการสำหรับผู้กระทำผิดในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุรา โดยจะคัดกรองตามแบบประเมินพฤติกรรมหากพบว่ามีความเสี่ยงสูงในการติดสุราจะส่งต่อให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเพื่อรับการบำบัดรักษาฟื้นฟูต่อไป
ทั้งนี้จากการตรวจข้อมูลคดีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักร ช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลปีใหม่ 2563 เฉพาะ 31 ธันวาคม 2562 แบ่งเป็นจำนวนคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณา รวม 9,179 คดีคดีที่พิพากษาแล้วเสร็จ 9,293 คดีปริมาณคดีขึ้นสู่การพิจารณาในเชียงใหม่ มี325 คดี ซึ่งคดีขึ้นสู่การพิจารณาศาลแขวงเชียงใหม่ มี 293 คดี ข้อหาที่มีการกระทำความผิดสูงสุดคือ ขับรถขณะเมาสุรา 8,744 คน สรุปภาพรวมสถิติคดีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ระหว่างวันที่ 27 – 31 ธันวามคม 2562 สถิติความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก ของกลุ่มศาลอาญา, กลุ่มศาลจังหวัด, กลุ่มศาลแขวงคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณา 19,680 คดี เฉพาะเชียงใหม่ 821 คดี ศาลที่มีปริมาณคดีขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุดได้แก่ ศาลแขวงเชียงใหม่ 731 คดี
ข้อหาที่มีการกระทำความผิดสูงสุด ยังเป็นขับรถขณะเมาสุรา 18,314 คน (1 คดี อาจมีหลายข้อหาซึ่งรายงานสถิติเป็นหน่วยคนแทน เพื่อง่ายต่อความเข้าใจ) เครือข่าย มูลนิธิเมาไม่ขับ พื้นที่ภาคเหนือแนะนำว่า ไม่จำเป็นว่าจะเป็นช่วงเทศกาล หากช่วงปกติกรณีเกิดเหตุถ้าพบว่าคู่กรณีมีอาการเมาสุราให้แจ้งตำรวจให้ตรวจแอลกอฮอล์ในทันที ถ้าคู่กรณีปฏิเสธการตรวจขอให้ตำรวจแจ้งข้อหาเมาแล้วขับกับคู่กรณีได้ทันทีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ซึ่งกฎหมายปฏิเสธการตรวจวัดแอลกอฮอล์ (เมาไม่เป่า) บังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 แล้ว

ร่วมแสดงความคิดเห็น