ผลจัดอันดับ เมืองสำราญของทัวร์ ยังเป็นเชียงใหม่

แวดวงผู้ประกอบการ รวมถึงหลาย ๆ ภาคส่วนในพื้นที่เชียงใหม่ ต่างตระหนักและยอมรับแผนพัฒนา ตลอดจนแนวทางดำเนินการส่งเสริม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมืองโบราณ 724 ปี ด้วยรายได้ที่มาจากภาคการท่องเที่ยว หากอ้างอิงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล่าสุด (ตุลาคม 61 ) พบว่า อัตราการเติบโตช่วงปี 2557-2562 เป็นบวกเฉลี่ย ร้อยละ 14.5 เฉพาะปี 2560 กวาดรายได้เกือบแสนล้านบาท ( 99,067.04 ล้านบาท) กับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย กว่า 7.1 ล้านคน ร้อยละ 69.86 ส่วนชาวต่างชาติ ราว ๆ 3 ล้านคน ค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตของทัวร์ ยังพุ่งสูงในห้วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่ตัวเลข 10.9 และมีแนวโน้มจะเพิ่มต่อเนื่อง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะยังคงพบเห็นการลงทุนด้านที่พัก โรงแรม กิจการบริการ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่มากมาย

ปี 2560 เชียงใหม่คว้ารางวัล “เมืองน่าท่องเที่ยว อันดับ 3 ของโลก” จากการสำรวจความคิดเห็นของนิตยสารท่องเที่ยวดังระดับโลก (ทราเวล แอนด์ เลอซองค์) และคว้าอันดับ 1 ของเอเชีย ปี 2561 ไต่ลำดับขึ้นมาเป็นที่ 2 มีแนวโน้มว่า “ความคุ้มค่า” ในการเดินทางอาจจะเป็นอีกปัจจัย ส่งผลให้เชียงใหม่คว้าอีกหลายรางวัล ในการสำรวจความพึงพอใจจากหลายองค์กร ที่รอประกาศผลปี 2562 เร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้เมืองโบราณเก่าแก่ ซึ่งเคยทำหน้าที่ราชธานีของอาณาจักรล้านนา จากอดีต จนกระทั่งปัจจุบัน ถูกวางตำแหน่ง เป็นศูนย์กลางภูมิภาค อินโด ไชน่าอีกเมือง เสมือน ประตูสู่ระเบียงเศรษฐกิจ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง-จีน

ผลที่ตามมา คือ มีการวางยุทธศาสตร์ให้ไทย เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ตามแผนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (พ.ศ.2559-2568) แน่นอนว่า มูลค่าทางการตลาดของธุรกิจบริการ เพื่อสุขภาพ อาทิ การบริการสปา สามารถสร้างรายได้ปีละกว่า 3 พันล้านบาท สมาคมธุรกิจสปา จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า แม้ช่วง ปี 2556-2558 จะเป็นจังหวะเวลาที่ธุรกิจสปาในเชียงใหม่ ทำรายได้ในกลุ่มทัวร์จีน เพราะผลพวงภาพยนตร์ดัง ลอสต์ อิน ไทยแลนด์ ที่ถ่ายทำในพื้นที่เชียงใหม่ มีฉากการใช้บริการเข้าไป เลยเป็นกระแส แต่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้น ยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวจากยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลางด้วย ที่นิยมและใส่ใจดูแลสุขภาพ โดยกลุ่มจีน อาจจะมีสัดส่วนมากกว่าราว ๆ 80-90%

รูปแบบ สปาเพื่อสุขภาพ ยังส่งเสริมให้ภาคการเกษตร ในกลุ่มผลไม้ 12 ชนิด ที่ปลูกมากในเชียงใหม่ นำมาเป็นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ ดูแลสุขภาพ บำรุงผิว ดูแลร่างกายหลากหลาย ทั้งลำไย, ลิ้นจี่, มะเกี๋ยง, เคปกูสเบอรี่, อะโวคาโด, สตรอว์เบอร์รี และผลไม้อื่น ๆ อีก จากความร่วมมือการพัฒนาวิจัยของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แม้ภาวะเศรษฐกิจในไทย จะมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งกลุ่มคนไทยส่วนหนึ่ง เริ่มนิยมเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ จากค่าเงินบาทแข็ง ภาพรวม และการประเมินสถานการณ์ “อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชียงใหม่” ปีนี้ อ้างอิง เชื่อมโยงข้อมูล “บิ๊ก ดาต้า” ที่ดึงข้อมูลจากสื่อสังคม โซเชียล การออนไลน์ ตามช่องทางต่าง ๆ มาประมวลผลความพึงพอใจ ของหน่วยงานการท่องเที่ยวในพื้นที่ นำไปสู่ข้อมูลการเดินทางมาท่องเที่ยว ซึ่งมีการแสดงออกผ่านยอดจองที่พัก จองตั๋วโดยสาร จองทัวร์สำหรับท่องเที่ยวปีนี้ ผนวกกับการจัดกิจกรรม เที่ยวเชียงใหม่ตลอดปี และการจัดเทศกาล งานสำคัญ ๆ แต่ละเดือน อย่างมีความน่าสนใจ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และต่างชาติ

บทสรุปข้อมูลยืนยันว่า เมืองโบราณ เมืองสำราญของทัวร์ยังเป็นเชียงใหม่ สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด ที่ตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยว โดยมีดัชนีชี้วัดผลแผนงานของปี 2560 เป็นหลัก (มีรายได้ 99,070 ล้านบาท) วางเป้าปี 2563 ที่ 118,000 ล้านบาท ปี 2564 ประมาณ 125,000 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 172,600 ล้านบาท อัตราการขยายตัว จีพีพี. (มูลค่าผลิตภัณฑ์รวมทั้งจังหวัด ฐานปี พ.ศ.2557 ที่ 2.8) เฉลี่ยทั้งรอบปี 2561-2565 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 ท้ายที่สุด “เชียงใหม่” เมืองโบราณอันทรงคุณค่า ยังคงมีมูลค่าทางการตลาดอันสดใสในปีนี้ และปีต่อ ๆ ไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น