แอปพลิเคชัน สำหรับเกษตรกรไทยยุคใหม่ ที่ต้องมี

ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการเป็นผู้ผลิตอาหารระดับโลก แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่ารายได้ของสินค้าเกษตร สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศได้ไม่ถึง 10% เนื่องจากสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ เน้นการส่งออกในรูปแบบวัตถุดิบเป็นหลัก ซึ่งราคาผันผวนตามกลไกของตลาดโลกและการแข่งขัน ราคาสินค้าขึ้นอยู่กับดีมานด์และซัพพลาย บางช่วงดีมานด์ตลาดมีมาก ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นสูง เกษตรกรก็จะเพิ่มการผลิตจนเกิดภาวะสินค้าล้นตลาด จนสินค้าชนิดนั้นราคาตกต่ำ เป็นวังวนที่ไม่จบสิ้น ทำให้ที่ผ่านมา ภาคเกษตรประสบปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ ขณะที่เกษตรกรในประเทศ ที่ขายผลผลิตในรูปแบบวัตถุดิบจะถูกกำหนดราคาโดยพ่อค้าคนกลาง ทำให้หมดโอกาส ในการแข่งขันทางการตลาด  

ถึงเวลาที่เกษตรกรต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำเกษตรรูปแบบใหม่  “สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” (Smart Farmer)  คือ “เกษตรอัจฉริยะ”  ที่ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเกษตร หรือที่เรียกว่า “สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง” (Smart Farming) รวมถึงการสร้าง เด็กรุ่นใหม่ “ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” (Yang Smart Farmer) ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของ “เกษตรสมัยใหม่” หรือ “โมเดิร์นฟาร์ม” (Modern Farm)  

เทคโนโลยีดิจิทัล คือ ตัวช่วยให้ภาคการเกษตร ปรับเปลี่ยนจากการทำการเกษตรแบบเดิมไปสู่การทำการเกษตรอัจฉริยะ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ตั้งแต่ การผลิต โดยการนำเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาช่วยทำงาน ไม่ว่าจะเครื่องไถ่หน้าดิน เครื่องขึ้นแปลงปลูก เครื่องเพาะปลูก เครื่องใส่ปุ๋ย เครื่องพ่นสารควบคุมวัชพืช รถเก็บเกี่ยว และรถบรรทุกขนส่งผลผลิต

ในขณะที่การแปรรูป และการตลาดก็ไม่สามารถใช้วิธีการแบบเดิม ๆ ได้เช่นเดียวกัน แต่ต้องมองไปถึงความต้องการของลูกค้า รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การไม่ปรับตัวจะส่งผลให้รายได้ภาคการเกษตรจะเติบโตได้ในระดับที่ต่ำ มีความเสี่ยงสูง ที่สำคัญจะมีปัญหาราคาตกต่ำซ้ำรอยเดิม

การปรับเปลี่ยนวิถีการทำการเกษตร โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพ การผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และทำการตลาดในรูปแบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางการขาย ขยายฐานลูกค้า สร้างรายได้เพิ่ม ควบคู่กับการขายแบบดั่งเดิม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้ยั่งยืนกว่า โดยเฉพาะ ‘เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture หรือ Precision Farming)’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เกษตรกรสามารถจับต้องได้ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย (Social Media) และอีมาร์เก็ตเพลส (E-market Place) สิ่งเหล่านี้ทำให้มีการพัฒนาฐานข้อมูล Big Data และแพลตฟอร์มขับเคลื่อนภาคการเกษตร อย่างเป็น รูปธรรมที่ชัดเจน 

ดังนั้น ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะแกนหลักในการขับเคลื่อนผลักดันนโยบายปฎิรูปภาคการเกษตร โดยการพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อให้เกษตรกรใช้เป็นแหล่งค้นหาความรู้ และข้อมูลในการทำการเกษตร ทั้งในด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด โดยเกษตรกรและผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดนำไปใช้ได้ฟรี ได้ที่  Play Store ในมือถือของท่าน เข้าไป พิมพ์ค้นหา แอปพลิเคชันแล้วทำการติดตั้งและใช้ได้ฟรี!

Play Store  

1. Plants for U

เป็นแอปพลิเคชันที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพืชและศัตรูพืช มีฟังก์ชั่นเด่น ที่คอยติดตามการระบาดศัตรูพืช เพื่อให้เกษตรกรป้องกันได้ทันท่วงที

โดยคณะทำงานจัดการองค์ความรู้ กรมวิชาการเกษตร “รู้จริงเรื่องพืชกับกรมวิชาการเกษตร” เผยแพร่องค์ความรู้ด้านการผลิตพืชสู่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ ผ่านทางแอพพลิเคชั่น “Plants for U” เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต

2. FARMBOOK (สมุดทะเบียนเกษตรกรดิจิทัล)

สมุดทะเบียนเกษตรกรดิจิทัล แอปพลิเคชันสำหรับเกษตรกรไทย เพื่อแจ้งการปลูก ปรับปรุงข้อมูลการปลูก ติดตาม ตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร สำรวจสมาชิกของครัวเรือน และติดตามสิทธิ์ตามโครงการและมาตรการของรัฐของครัวเรือน

โดยใช้รหัสทะเบียนเกษตรกร หรือเบอร์โทรศัพท์ ที่ลงทะเบียนไว้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอเข้าใช้งาน ทั้งชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านเป็นเลขเดียวกัน

เป็นแอปพลิเคชันสำหรับใช้ปรับปรุงข้อมูล การประกอบกิจกรรมการเกษตรของเกษตรกรด้วยตนเอง ผ่าน Smart Phone โดยเกษตรกร สามารถตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรของตนเองว่าครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ และสามารถตรวจสอบการเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือของรัฐได้

3. Farm Manage  (เกษตร จัดการพื้นที่แปลง เกษตรกร)

Farm Manage เป็นแอพพลิเคชั่นที่จะช่วยคุณจัดการการเกษตรรอบด้าน และอีกทั้งยังทำให้คุณเป็นเหมือน CEO การเกษตรด้วยตัวของคุณเอง ดังนี้

– สามารถจัดเก็บพื้นที่แปลงเกษตรของคุณไว้บนแผนที่ เพื่อให้เข้าใจง่ายต่อการทำงาน โดยการวาดแปลงด้วยตัวของคุณเอง

– สามารถบันทึกอายุของแปลงนั้น ๆ เพื่อใช้วางแผนการเก็บเกี่ยวผลผลิตในอนาคต

– สามารถพยากรณ์อากาศแต่ละแปลงนั้น ๆ ได้ เพื่อทำให้มีการวางแผนในการทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

– จัดเก็บรายรับ-รายจ่ายของแต่ละแปลง พร้อมทั้งแปลงออกมาเป็นรายงานให้คุณได้วิเคราะห์เงินได้ของแต่ละแปลงง่ายมากยิ่งขึ้น และไม่ต้องคอยจดในกระดาษ หรือจดไว้หน้าแปลงอีกต่อไป

– ในโหมดของรายงาน คุณสามารถเห็นภาพรวมรายรับ-รายจ่ายของแต่ละแปลง อีกทั้งภาพรวมของขนาดพื้นที่แปลงทั้งหมด และชนิดแปลงที่มี เป็นต้น

– สามารถบันทึกกิจกรรมต่าง ๆ ภายในแปลงได้ เพื่อเป็นข้อมูลเก็บไว้ปรับปรุงแก้ไขในรายปีถัดไป

– สามารถเพิ่มรูปในกิจกรรมต่าง ๆ ของแปลงได้ เพื่อใช้ดูความเจริญเติบโตของแปลง เป็นต้น

– คุณสามารถดูกิจกรรม และรายรับ-รายจ่ายของแปลงที่กำลังจะมาถึงในปฏิทินของเราได้

– สามารถส่งออกข้อมูลรายงานรายรับ-รายจ่าย พร้อมทั้งรายละเอียดต่าง ๆ ของแปลงออกมาในรูปของ Microsoft Excel เพื่อการใช้งานข้อมูลที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

4. Farmcheck (ส่งเสริมการเกษตรกรดิจิทัล)

แอปพลิเคชันสำหรับใช้แจ้งเตือนข้อมูลการเกษตร ข่าวสาร องค์ความรู้ คลังความรู้ทางด้านการเกษตร (K-room) ภัยการเกษตร ภัยธรรมชาติ โรคพืช วิเคราะห์พื้นที่การเกษตร (Zoning) ตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ 13 ชนิด และข้อมูลแหล่งผลิตพืชมากกว่า 400 ชนิดทั่วประเทศไทย

5. Rice Knowledge Bank (RKBApp)

แอปพลิเคชันระบบพันธุ์ข้าวรับรองของไทย กรมการข้าว เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านพันธุ์ข้าวที่ผ่านการรับรอง ในเรื่องของชื่อพันธุ์ ชนิดข้าว ประวัติพันธุ์ ลักษณะประจำพันธุ์ ลักษณะเด่น พื้นที่แนะนำและการให้ผลผลิตประมาณการต่อไร่ สำหรับเกษตรกรและผู้สนใจนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

6. ฟาร์มข้าวอัจฉริยะ (Thai Rice Varieties)

เพื่อวางแผนปลูกข้าวผ่าน Mobile Application ช่วยให้เกษตรกรทราบทุกกิจกรรมที่ควรปฏิบัติตามหลักวิชาการของกรมการข้าว ต้นทุนการผลิต รวมถึงสามารถเข้าถึงองค์ความรู้สำหรับการปลูกข้าวที่ถูกต้องได้ทุกขั้นตอน และตรวจสอบชุดดินได้ด้วยตนเอง

ฟาร์มข้าวอัจฉริยะ (Smart Rice Farm – SRF) เป็นแอปพลิเคชัน ที่กรมการข้าวและกรมพัฒนาที่ดินร่วมกันพัฒนาขึ้น โดยนำเทคโนโลยี องค์ความรู้ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลผลิตข้าวของทั้งสองหน่วยงานมาบูรณาการเข้าด้วยกัน และอ้างอิงข้อมูลวิชาการ

7. Chaokaset

แอพพลิเคชันที่ช่วยเกษตรกรในการวางแผนการเพาะปลูกพืช (ในระยะแรก เฉพาะการปลูกข้าว) โดยหลังจากการกำหนดวันเริ่มการเพาะปลูก แอพพลิเคชัน “ชาวเกษตร” จะช่วยเตือนเกษตรกรในช่วงเวลาสำคัญ ๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ เช่น การให้น้ำ การให้ปุ๋ย เพื่อให้เป็นไปตามแผนการเพาะปลูกจากแผนการเพาะปลูกหลักที่หน่วยงานภาครัฐฯ แนะนำ

นอกจากการช่วยวางแผนและแจ้งเตือนการเพาะปลูกที่แนะนำแล้ว ยังมีการทำงานที่ช่วยเหลือระหว่างการเพาะปลูกอื่น ๆ อาทิเช่น ข้อมูล ตำแหน่ง แปลงเพาะปลูก การพูดคุย แนะนำ โรคและปัญหาการเพาะปลูกระหว่างผู้ใช้แอพพลิเคชัน “ชาวเกษตร” ด้วยกัน การจดบันทึกบัญชีการเพาะปลูกตลอดการเพาะปลูกและ การซื้อ-ขายสินค้าเกษตรโดยตรงผ่านแอพพลิเคชัน

แอพพลิเคชัน “ชาวเกษตร” นอกจากจะช่วยแนะนำแผนการเพาะปลูกที่เหมาะสมแล้ว ยังจะช่วยจดบันทึกแผนการเพาะปลูกเฉพาะบุคคลของเกษตรกรด้วย สามารถใช้เป็นข้อมูลแนะนำเพื่อนเกษตรกรให้ทำตามได้ ในกรณีที่ได้ผลิตผลจากการเพาะปลูกที่ได้ผลดีอยู่แล้ว เพื่อร่วมเรียนรู้วิธีการเพาะปลูกตามพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันได้ในอนาคต

8. ค้นหาทะเบียนแหล่งผลิตพืชคุณภาพ

เกษตรกรและผู้ใช้งานสามารถค้นหาทะเบียนแหล่งผลิตพืช GAP และแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ โดยค้นหาจากรหัสแปลง รหัสใบรับรอง รหัสบัตรประชาชน ชื่อเกษตรกร ชื่อพืช ที่ตั้งแปลง (จังหวัด อำเภอ และตำบล)

9. WMSC (ติดตามสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน)

เป็นแอปพลิเคชันจัดเก็บรวบรวมข้อมูล และนำเสนอข้อมูลข่าวสารในการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ข้อมูลปริมาณน้ำฝน ข้อมูลปริมาณน้ำท่า ข้อมูลปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ข้อมูลอัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำคลองชลประทานต่าง ๆ กล้องติดตามสถานการณ์น้ำ และข้อมูลการเกษตร แบบรายวัน

10. ปุ๋ยรายแปลง

โปรแกรมปุ๋ยรายแปลง เป็นโปรแกรมช่วยตัดสินใจ ในการจัดการดินตามค่าวิเคราะห์ของดินตามพื้นที่ แสดงการจัดการดินเบื้องต้น รวมถึงชนิด ปริมาณ และเวลา ในการใส่ปุ๋ย ในตัวแอพพิเคชันนี้ ได้สร้างขึ้นโดยความเห็นชอบจากกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อให้ผู้สนใจ ได้ทดลองนำไปใช้งาน

11. กดดูรู้ดิน

กดดูรู้ดิน เป็นแอปพลิเคชัน สำหรับใช้งานบน Mobile App โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูล ผ่านทาง Web Map Service เพื่อแสดงข้อมูลดิน แนวทางการจัดการดิน ปัญหาดิน แนวทางแก้ไขเมื่อดินมีปัญหา นอกจากนี้ยังแสดงข้อมูลที่ตั้งของ สถานีพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดิน ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์

12. LDD Soil Guide (สารสนเทศดินและข้อมูลการใช้ปุ๋ย)

ระบบสารสนเทศดินและข้อมูลการใช้ปุ๋ย เป็นระบบที่แสดงข้อมูลกลุ่มชุดดิน และข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งประเทศ สามารถสืบค้นข้อมูลในรูปแบบแผนที่ ได้ทั้ง แผนที่ฐาน แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ แผนที่ Google Map

เมื่อคลิกเลือกพื้นที่ที่ต้องการ ระบบจะแสดงข้อมูลสถานที่ ตำบล อำเภอ จังหวัด และจุดพิกัด ณ ตำแหน่งที่เลือก พร้อมทั้งแสดงข้อมูลกลุ่มชุดดิน ประกอบด้วย ลักษณะเด่นของกลุ่มชุดดินนั้น ๆ คุณสมบัติดิน ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ปริมาณน้ำที่พืชใช้ประโยชน์ได้ (AWC) แสดงข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน แนวทางการจัดการดินเพื่อการปลูกพืช

แสดงข้อมูลความเหมาะสมของดินในการปลูกพืช โดยระบบจะแสดงสัญลักษณ์เขียว (เหมาะสมมาก) เหลือง (ไม่ค่อยเหมาะสม) แดง (ไม่เหมาะสม) เมื่อคลิกเลือกพืชที่ต้องการ จะแสดงแนวทางการจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิต คำแนะนำปุ๋ยสำหรับการกลุ่มชุดดิน ค่าวิเคราะห์ดินพื้นฐาน คำแนะนำปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

เกษตรกร ประชาชน ภาครัฐและเอกชน สามารถค้นหาข้อมูลสารสนเทศดินและข้อมูลการใช้ปุ๋ย ได้ด้วยตนเองผ่าน Mobile Application บนระบบปฏิบัติการ Android และ iOS เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนก่อนการเพาะปลูกได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น