เกษตรกรเหนือหวั่น ล้งจีนอ้างคู่ค้ากระทบไวรัสโคโรนา กดราคารับซื้อผลผลิต

กลุ่มผู้รวบรวมผลผลิต ในพื้นที่ภาคเหนือ (ล้งชุมชน เชียงใหม่-ลำพูน ) กล่าวว่า เท่าที่ติดตามสถานการณ์ แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนานั้น หากระยะเวลา 3-6 เดือน จะเข้าสู่ภาวะปกติ เกรงว่า ผลไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ๆ ภาคเหนือ โดยเฉพาะลำไย อาจจะได้รับผลกระทบด้านราคา

แม้ว่า ส่วนหนึ่งจะหันมาทำเกษตรแปลงใหญ่ ผลิตนอกฤดู ซึ่งคาดว่า มากกว่าปกติเป็นแสนตัน ส่วนในฤดูน่าจะใกล้เคียงปีที่ผ่านมา ภาวะภัยแล้ง ความแปรปรวนของสภาพอากาศ โรคพืช ทำให้แบกรับต้นทุนสูง เกรงว่าล้งจีน จะใช้ภาวะเช่นนี้เป็นข้ออ้าง ในการเปิดราคารับซื้อ ทั้ง ๆ ที่ตลาดคู่ค้าหลัก ๆ ไม่ว่าจะแถวเซี่ยงไฮ้ที่ตลาดเจียซิง, หล่งอู๋ และเห้ยจั่น แต่ละที่นำเข้าปกติ ผู้คนอาจจะออกมาจับจ่ายซื้อผลผลิตน้อยลง

ดังนั้นจึงอยากวิงวอน เรียกร้องให้ หน่วยงานด้านเกษตร ในแต่ละพื้นที่วางแผนรองรับ กรณีผลผลิตออกสู่ตลาด และราคารับซื้อพลิกผันกว่าที่เกษตรกรคาดหวัง ซึ่งผลผลิตที่เห็นชัดเจนสุดเร็ว ๆ นี้คือ ทุเรียน บรรดาผลไม้ภาคตะวันออก ที่ออกมาช่วงตลาดจีน เมืองใหญ่ ๆ ประชาชน ยังไม่ออกมาใช้ชีวิตตามปกติ ถ้าแก้ไขไม่ได้กับภาวะเช่นนี้ในช่วง 3-4 เดือน ผลไม้ภาคเหนือยับเยินแน่ คงต้องพึ่งพาคนไทยช่วยกันซื้อผลไม้ไทยบริโภค

ในการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ๊ต บอร์ด) ซึ่งมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมนั้น ได้รับทราบรายงานคาดการณ์ข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือ ปี 2563 ว่าลำไยในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ น่าจะมีผลผลิตรวม 699,815 ตัน แยกเป็นลำไยในฤดู 439,850 ตัน นอกฤดู 259,965 ตัน ผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุดในเดือน สิงหาคม ส่วนลิ้นจี่ มีผลผลิตรวม 33,873 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 11,783 ตัน หรือร้อยละ 53.34 ผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุดในเดือน พฤษภาคม นี้

สำหรับผลไม้ภาคตะวันออกไม่ว่าจะเป็นทุเรียน 599,708 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 กว่า 104,165 ตันมังคุดรวม 204,745 ตัน เพิ่มขึ้น 25,135 ตัน เงาะรวม 224,390 ตัน เพิ่มขึ้น 33,301 ตัน ลองกองรวม 24,173 เพิ่มขึ้น 3,880 ตันทุเรียนจะออกมากช่วงเดือนเมษายน ต่อเนื่องถึง พฤษถาคม 2563 ซึ่งราคาดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาดีขึ้น

ดังนั้นในภาพรวมแล้ว ตั้งแต่เมษายนนี้เป็นต้นไป ผลผลิต ผลไม้ตามฤดูกาลจะประดังออกมาที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการผลไม้ ปี 2563 มุ่งเน้นจะต้องมีข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดผู้ซื้ออย่างเหมาะสม จัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ ซึ่งมีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกร อันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลัก

ทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาคุณภาพผลไม้ ทั้งในและนอกฤดู ส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐานจีเอพี. และพัฒนาการผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านไม้ผล มีข้อมูลประมาณการผลผลิต มุ่งหวังให้เกษตรกรยังสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม มีราคามาตรฐานขายได้ไม่ต่ำกว่า ต้นทุน + กำไร 30% บริหารจัดการผลผลิตส่วนเกิน ทั้งกลไกปกติ แผนเผชิญเหตุกรณีผลผลิตออกมามากและเหตุการณ์เหนือความคาดหมาย เช่น ลำไย,ทุเรียน เตรียมส่งออกไปจีน ที่เผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา และไม่มีท่าทีว่าจะแก้ไขวิกฤติได้เมื่อไหร่

ทั้งนี้คณะทำงานที่ปรึกษาการเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ และฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ได้รายงานสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาว่า ด่านศุลกากรที่นำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญจากไทยบางพื้นที่ปิด เนื่องในวันหยุดตรุษจีนและอาจพิจารณาหยุดต่อเนื่องตามสถานการณ์การระบาด และมาตรการของรัฐบาลท้องถิ่น ในบรรดาด่านสำคัญ ๆ ทั้งด่านโหยวอี้กวน ด่านโม่ฮาน ด่านสนามบินไป๋หยุน กว่างโจว ส่วนใหญ่ศุลกากรทำงานปกติ แต่บางด่านขยายวันหยุดเพื่อป้องกันการระบาด ซึ่งช่วงนี้การส่งออกผลไม้ไทยผ่านเส้นทางบกอาจได้รับผลกระทบในระยะสั้น เช่น ด่านโหยวอี้กวน เขตกว่างสีฯ

บรรดาตลาดค้าส่งผักและผลไม้เจียงหนานยังเปิดทำการปกติ มีผู้นำเข้าสินค้ามาขาย แต่ปริมาณลดน้อยลง ผู้นำเข้าทุเรียนและขนุนจากไทย บางส่วนไม่ได้นำเข้าผลไม้จากด่านโหยวอี้กวน เนื่องจากด่านปิดทำการ เปลี่ยนเป็นนำเข้าที่คุนหมิงแทน ช่วงนี้สินค้าขายไม่ดีและได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก

ร่วมแสดงความคิดเห็น