จากล้านนาที่ยิ่งใหญ่ สู่เมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน

ตั้งแต่ครั้งที่พระญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายได้สร้างเวียงกุมกามขึ้น (ปัจจุบันอยู่ในเขตท้องที่หมู่ 11 ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่) ริมฝั่งแม่ระมิงค์ เมื่อ พ.ศ.1837 ต่อมาทรงสร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ พ.ศ.1839 โดยเชิญพระสหายคือพ่อขุนรามคำแหงแห่งเมืองสุโขทัยและพระญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา เป็นที่ปรึกษาวางผังเมืองอาณาจักรล้านนาได้แผ่แสนยานุภาพไปถึงแพร่ น่าน พิษณุโลก มีอารยธรรม ศิลปวัฒนธรรม ภาษาพูดเป็นของตนเอง พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่งในรัชสมัยพระญากือนาและพระเจ้าติโลกราช แต่หลังจากสิ้นรัชสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์มังรายแล้ว เชียงใหม่เริ่มเสื่อมลงจนถึงยุคของพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ ในช่วงเวลานี้เองที่พระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่าสามารถเข้ายึดเมืองเชียงใหม่ได้ในปีพ.ศ.2101 แต่ยังคงให้พระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ปกครองเชียงใหม่ในฐานะเจ้าประเทศราช ต้องส่งส่วยและต้นไม้ทองต้นไม้เงินเป็นบรรณาการ ให้กองทหารพม่า 10,000 นายกำกับการบริหารราชการแผ่นดินล้านนาภายใต้การปกครองของพม่า

ในปี พ.ศ.2107 พม่าปลดพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ จากราชบัลลังก์ แล้วแต่งตั้งพระนางวิสุทธิเทวีขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนคร แต่เมื่อพระนางสวรรคตลง พม่าจึงได้แต่งตั้งเจ้านายและข้าราชการของพม่ามาปกครองเชียงใหม่อีก 17 คน รวมเป็นเวลานานถึง 216 ปี ช่วงเวลานี้เชียงใหม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจทั้งของพม่าและกรุงศรีอยุธยา (รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ชาวล้านนาได้พยายามรวบรวมกำลังเพื่อเป็นอิสระจากพม่าหรือเพื่อ “ฟื้นม่าน” พระญาสุลวะฤาไชยนามเดิม “หนานทิพย์ช้าง” ขับไล่กองกำลังพม่าออกจากวัดพระธาตุลำปางหลวงและได้ครองเมืองลำปาง เมื่อ พ.ศ.2275 ต่อมาพม่าสามารถยึดลำปางคืนได้และแต่งตั้งเจ้าชายแก้วบุตรพระญาสุลวะฤาไชย ไปครองนครลำปาง ในปี พ.ศ. 2307

พม่าซึ่งรักษาเมืองต่าง ๆ ได้ทำการกดขี่ข่มเหงชาวล้านนา เกณฑ์ไพร่พลไปทำสงคราม เรียกเก็บทรัพย์สินและเสบียงอาหาร สร้างความเจ็บแค้นไม่พอใจแก่ขุนนางเป็นอย่างมาก ชาวเมืองล้านนาจึงได้พยายามลุกขึ้นกอบกู้เอกราชของตน แต่เนื่องจากขาดกำลังจึงทำการไม่สำเร็จ กระทั่งปี พ.ศ.2314 พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ยกกองทัพมาตีเชียงใหม่ พระญาจ่าบ้านจึงชักชวนเจ้ากาวิละบุตรเจ้าฟ้าชายแก้วแห่งนครลำปางเข้าร่วมกองทัพไทยขับไล่พม่าออกจากล้านนา จนสามารถขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ.2319 

พระเจ้ากรุงธนบุรี จึงทรงแต่งตั้งพระญาจ่าบ้านเป็นพระยาวชิรปราการครองนครเชียงใหม่ และทรงแต่งตั้งเจ้ากาวิละเป็นพระญากาวิละครองนครลำปาง โดยให้ขึ้นกับกรุงธนบุรี แต่พม่าไม่ละความพยายาม ยกทัพมาตีเชียงใหม่หลายครั้ง จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งให้พระญากาวิละเจ้าผู้ครองนครลำปางเป็นพระยาวชิรปราการ สืบต่อจากพระญาจ่าบ้าน เป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 1 ต้นราชวงศ์ทิพย์จักร หรือ ต้นราชวงศ์ของเจ้านายฝ่ายเหนือสายสกุล “เจ้าเจ็ดตน” บุตรหลาน พระญาสุลวะฤาไชย ที่ปกครองเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูนและลำปางเชียงใหม่ในช่วงเวลานั้นจึงมีฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราชของสยาม เจ้าเมืองมีอาญาสิทธิ์ในการปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษาและวัฒนธรรมประเพณี เยี่ยงพระมหากษัตริย์ รัฐบาลกรุงเทพฯกำหนดหน้าที่ของเจ้าผู้ครองนครในล้านนาไว้ 4 ประการ คือ ช่วยป้องกันพระราชอาณาเขต ช่วยขยายพระราชอาณาเขต ช่วยเหลือในการสงคราม และ ส่งเครื่องราชบรรณาการและต้นไม้เงินต้นไม้ทองทุก 3 ปี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ภายหลังการทำสนธิสัญญาเชียงใหม่กับอังกฤษเมื่อ พ.ศ.2416 รัฐบาลได้ส่งข้าราชการมาควบคุมดูแล แนะนำ ประสานงานให้เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญา อำนาจของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เริ่มลดลงจนถึงเจ้าหลวงองค์สุดท้ายคือเจ้าแก้วนวรัฐ เชียงใหม่จึงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น