คณะเกษตรฯ มช.ชวนมาปลูก “ไมโครกรีน” หรือ “ต้นอ่อนของพืช”

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยคณะเกษตรศาสตร์ ชวนมาปลูก “ไมโครกรีน” หรือ “ต้นอ่อนของพืช” นอกจากจะได้ทำกิจกรรมดีๆ ที่บ้านแล้ว ยังได้ผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูงไว้รับประทานด้วย

สถานการณ์ COVID-19 ระบาดแบบนี้ เชื่อว่าหลายๆคน คงกักตัวอยู่กับบ้านกัน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะมาแนะนำให้รู้จัก ไมโครกรีน Microgreens “ไมโครกรีน” หรือ “ต้นอ่อนของพืช” เป็นการนำเมล็ดพืชผักและสมุนไพรชนิดต่างๆ มาเพาะเป็นเวลา 7-14 วัน ก็สามารถเก็บมารับประทานได้ อีกทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูงพืชที่นิยมนำมาผลิตไมโครกรีน เช่น ทานตะวัน ผักบุ้ง คะน้า ถั่วลันเตาโขมแดง เครส ร๊อกเก็ตสลัด กะเพรา เป็นต้น

ซึ่งพืชแต่ละชนิดนั้นจะมีกลิ่น สี และรสชาติที่พิเศษเฉพาะตัวแตกต่างกันไป มีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย มีวิตามินต่าง ๆ และสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าผักประเภทเดียวกันที่โตเต็มวัย เรียกได้ว่าต้นจิ๋วแต่แจ๋วสมชื่อเลยทีเดียวค่ะ บางชนิดสามารถเพาะเมล็ดได้โดยไม่ใช้ดิน จัดการดูแลง่าย และประหยัดพื้นที่ในการปลูกอีกด้วย

วัสดุในการเพาะปลูก เช่น เมล็ดผัก วัสดุปลูก ภาชนะปลูก ผ้าขาวบาง ฟ๊อกกี้
ขั้นตอนการเพาะ  พืชที่มีเมล็ดขนาดใหญ่ เช่น ผักบุ้ง ทานตะวัน ถั่วลันเตา เป็นต้น
1.นำเมล็ดพืชแช่น้ำ 6-8 ชม. แล้วเทน้ำทิ้งห่อด้วยผ้าทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน (เมล็ดพืชจะมีรากงอกออกมาเล็กน้อย)
2.นำวัสดุปลูกใส่ภาชนะปลูก รดน้ำให้วัสดุปลูกมีความชื้น
3.โรยเมล็ดพืชในภาชนะปลูกจนทั่ว กลบด้วยวัสดุปลูก และรดน้ำให้ชุ่ม
4.นำถาดเพาะ หรือภาชนะที่สามารถปิดถาดเพาะเมล็ดได้ มาปิดทับด้านบน
5.ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 วัน มาเปิดดูและรดน้ำตามความเหมาะสม เมื่อเมล็ดงอกจนดันภาชนะที่ปิดทับลอยขึ้นมาให้เปิดออก วางไว้ในที่ที่ไม่ได้รับแสงแดด
6.ประมาณ 7-14 วัน เป็นระยะที่ยังไม่มีใบจริง (ยกเว้นถั่วลันเตา) ก็สามารถตัดผักไปรับประทานได้

พืชที่มีเมล็ดขนาดเล็ก เช่น คะน้า ผักกาดหัว ผักโขม เป็นต้น
1.นำวัสดุปลูกใส่ภาชนะปลูกประมาณ 1/2-3/4 ของความลึกภาชนะ รดน้ำให้วัสดุปลูกชื้น วางผ้าขาวบางบนวัสดุปลูก (เพื่อป้องกันวัสดุปลูกกระเด็นมาติดใบขณะรดน้ำ)
2.โรยเมล็ดพืชบนผ้าขาวบาง และรดน้ำให้ชุ่ม วางไว้ในที่ร่ม
3.ปิดภาชนะปลูก รอจนต้นพืชงอกแล้วจึงเปิดฝา ถ้าหากวัสดุปลูกแห้ง ก็สามารถเปิดฝาและรดน้ำได้
4.ประมาณ 7-14 วัน (เป็นระยะที่ยังไม่มีใบจริง) ก็สามารถตัดผักไปรับประทานได้
ข้อแนะนำควรเลือกเมล็ดพันธุ์พืชชนิดที่ไม่คลุกสารกำจัดศัตรูพืช หรือเมล็ดพันธุ์อินทรีย์

กักตัวอยู่กับบ้านแบบนี้ เบื่อๆ มาปลูกผักไมโครกรีน ผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูงกัน ไม่แน่อาจจะเป็นรายได้เสริมในช่วงเวลาแบบนี้ก็ได้ ทางคณะเกษตรยินดีให้คำปรึกษาให้กับทุกท่านค่ะ สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ FACEBOOK คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ ติดต่อ 053-944088, 053944090

ร่วมแสดงความคิดเห็น