“วัดหมื่นสาร” วัวลายอดีตโรงพยาบาลทหารญี่ปุ่นในสงครามโลก ครั้งที่

ชุมชนวัวลาย เป็นชุมชนวัฒนธรรมย่านการค้าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 1981 พญาสามฝั่งแกน ได้สร้างวัดหมื่นสารขึ้นเป็นศูนย์กลางชุมชน ต่อมาสมัยพระเจ้ากาวิละได้ไปกวาดต้อนผู้คนจากชุมชนงัวลายบริเวณลุ่มแม่น้ำคง และชุมชนชาวเขินจากเมืองเชียงตุง รวมถึงคนจากเมืองยอง เมืองสาด เมืองมาง ฯลฯ ไปจนถึงแคว้นสิบสองปันนาในจีน อพยพผู้คนจากที่ต่าง ๆ มาตั้งรกรากอยู่ในเชียงใหม่ และให้บรรดาช่างฝีมือต่าง ๆ อาศัยอยู่ในบริเวณในและนอกกำแพงเมือง กลุ่มช่างเงินมาตั้งรกรากอยู่ใกล้กับกลุ่มไทเขิน โดยมีวัดนันตาราม วัดศรีสุพรรณ และวัดพวกเปีย เป็นศูนย์กลางชุมชนและเรียกชื่อหมู่บ้านใหม่ตามชื่อของหมู่บ้านเดิมว่า “งัวลาย” หรือ “วัวลาย” เมื่อมาเที่ยวย่านชุมชนวัวลาย จะพบกับร้านขายเครื่องเงิน เครื่องเขินเป็นจำนวนมาก เนื่องจากแต่เดิมผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้เป็นช่างฝีมือที่อพยพเข้ามา ในช่วงสมัยของพระเจ้ากาวิละ นอกจากชุมชนวัวลายจะมีชื่อเสียงในเรื่องงานหัตถกรรมแล้ว ที่ชุมชนแห่งนี้ยังมีเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจซ่อนเร้นอยู่ โดยเฉพาะที่วัดหมื่นสาร ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางทางด้านวัฒนธรรมอีกด้วยนอกจากนั้นวัดหมื่นสารแห่งนี้ยังเคยใช้เป็นโรงพยาบาลที่ใช้รักษาทหารญี่ปุ่นในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในปี ค.ศ. 1944 กองทัพญี่ปุ่นได้เคลื่อนพลข้ามชายแดนพม่าไปยังมณฑลอิมปาลทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักร แต่เนื่องจากการลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ อาหารรวมถึงยารักษาโรคไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้การลำเลียงสิ่งของเหล่านั้นต้องยุติลงเพียงแค่เวลา 3
เดือน ในขณะที่กองทัพญี่ปุ่นกำลังถอยทัพกลับนั้น ได้ถูกโจมตีจากศัตรู อีกทั้งการเดินทางที่ยากลำบากผนวกกับไข้ป่าและโรคภัยไข้เจ็บทำให้ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากต้องล้มตายลง ทหารที่รอดชีวิตบางส่วนได้ใช้เส้นทางแม่ฮ่องสอนที่เชื่อมต่อระหว่างชายแดนพม่าในการถอยทัพกลับมายังเชียงใหม่ ว่ากันว่า มีทหารญี่ปุ่นจำนวนกว่า 7 หมื่นคน ต้องเสียชีวิตในครั้งนี้ปัจจุบันวัดหมื่นสารร่วมกับกลุ่มอดีตทหารญี่ปุ่นได้จัดสร้างอนุสรณ์สถานทหารญี่ปุ่นขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1970 เพื่อร่วมรำลึกถึงทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิต ณ ที่แห่งนี้ โดยในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี ได้จัดให้มีพิธีบวงสรวงอนุสรณ์สถานทหารญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังมีการทำความสะอาดอนุสรณ์สถานปีละ 3 ครั้ง คือ เดือนมีนาคม สิงหาคม และธันวาคม เป็นประจำอีกด้วย อนุสรณ์สถานทหารญี่ปุ่นที่วัดหมื่นสาร ได้รับการอนุรักษ์และดูแลรักษาโดยท่านเจ้าอาวาส
พระสงฆ์สามเณรรวมถึงชาวบ้านหมื่นสารทุกท่าน
เมื่อไปวัดหมื่นสาร ลองแวะไปสักการะอนุสรณ์สถานทหารญี่ปุ่น และชมพิพิธภัณฑ์โบราณซึ่งภายในจัดแสดงสิ่งของ เรื่องราวของชุมชนวัดหมื่นสาร รวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสิ่งของต่าง ๆ นี้ พ.ต.ท.เชิดชาย ชมธวัช เป็นผู้มอบให้กับพิพิธภัณฑ์ฯ รวมถึงภาพถ่ายโบราณ ทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถ่ายโดย มร.โทโมะโยชิ อิโนอุเอะ อดีตนายทหารสัตวแพทย์ ผู้ที่รอดชีวิตจากเส้นทางยุทธศาสตร์ในการลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ของเข้าไปยังพม่าในครั้งนั้น
สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์โบราณและสักการะอนุสรณ์สถานทหารญี่ปุ่นที่วัดหมื่นสาร วัวลายได้ทุกวัน

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น